“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เชิญบริษัท กรีน เจนเนอเรชั่น เวิลด์ไวด์ จำกัด (GGW) ในฐานะผู้รับจ้างขนย้ายขบวนรถไฟดีเซลรางปรับอากาศรุ่น Kiha 40 จำนวน 11 คันและ Kiha 48 จำนวน 9 คัน รวม 20 คัน จากประเทศญี่ปุ่น มายังประเทศไทย เข้าร่วมประชุมเพื่อเตรียมการตรวจรับงานงวดที่ 3 ภายหลังจากได้ข้อสรุปว่า ไม่ต้องตั้งคณะกรรมการควบคุมงาน เพื่อควบคุมการถอดแคร่ (โบกี้) ออกจากตัวรถ ตามข้อสังเกตของประธานกรรมการตรวจรับพัสดุ ที่ผู้ว่า รฟท. แต่งตั้งขึ้นใหม่ เนื่องจากในขอบเขตงาน (TOR) กำหนดไว้อยู่แล้วว่า ต้องมีผู้ควบคุมงานที่เป็นวิศวกรที่ได้รับการรับรองจาก JR East (East Japan Railway Company) บริษัทรถไฟในญี่ปุ่นที่มอบรถไฟดังกล่าวให้กับ รฟท. และให้มีเจ้าหน้าที่ของ รฟท. ร่วมตรวจสอบด้วย

เบื้องต้น รฟท. ได้ให้บริษัท กรีน เจนเนอรั่นฯ ดำเนินการถอดโบกี้ออกจากตัวรถ Kiha 40/48 ทั้ง 20 คัน ที่สถานีรถไฟแหลมฉบัง ระหว่างวันที่ 17-19 มี.ค.68 รวม 3 วัน โดยบริษัทฯ ต้องถอดอุปกรณ์ และจุดเชื่อมต่อต่างๆ ระหว่างโบกี้ออกจากตัวรถ ตามขั้นตอนที่ได้รับการฝึกอบรมจาก JR East จากนั้นจะยกตัวรถขึ้น เพื่อนำโบกี้ออก และใช้อุปกรณ์รองตัวรถไว้แทนโบกี้ รวมทั้งยกโบกี้ขึ้นขบวนรถไฟบรรทุกยานขนาดหนัก (บขน.) เพื่อนำไปปรับขนาดความกว้างของฐานเพลาล้อจาก 1.067 เมตร เป็น 1 เมตร ที่โรงงานมักกะสัน ดำเนินการโดย รฟท. ต่อไป

ขณะนี้บริษัทฯ มีความพร้อมทั้งบุคลากร และอุปกรณ์ที่จะใช้ดำเนินการถอดโบกี้ออกจากตัวรถ ประกอบด้วย วิศวกรของบริษัทฯ ที่ได้รับการฝึกอบรมจาก JR East 1 คน, บุคลากร 10 คน และรถเครนชนิดเคลื่อนที่ (Mobile Crane) 80 ตัน 2 คัน ซึ่งจะทำงานให้แล้วเสร็จตามกำหนดในวันที่ 19 มี.ค.68 อย่างไรก็ตามคาดว่า รฟท. จะใช้เวลาในการปรับขนาดความกว้างของฐานเพลาล้อ ประมาณ 25 วัน จากนั้นจะส่งมอบกลับมาให้บริษัทฯ ประกอบโบกี้เข้ากับตัวรถ และส่งมอบงานให้กับ รฟท. เพื่อนำไปปรับปรุงขบวนรถต่อไป

เบื้องต้นคาดว่าประมาณปลายเดือน เม.ย.68 รฟท. จะสามารถเริ่มปรับปรุงขบวนรถไฟดีเซลรางปรับอากาศรุ่น Kiha 40 และ Kiha 48 ทั้ง 20 คันได้ โดยจะทยอยดำเนินการ ตั้งเป้าหมายแล้วเสร็จภายในปี 2568 ประมาณ 6 คัน ก่อนนำมาให้บริการประชาชนต่อไป ซึ่งจะสามารถช่วยเสริมขบวนรถโดยสารที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับการจัดหารถใหม่ ส่วนเรื่องค่าปรับบริษัทฯ ที่ส่งมอบงานล่าช้านั้น ในที่ประชุมยังไม่ได้มีการพูดถึงประเด็นดังกล่าว คงรอให้ส่งมอบงานแล้วเสร็จก่อน

สำหรับรถดีเซลราง Kiha 40 และ Kiha 48 ทาง JR East ปลดระวางเมื่อต้นปี 66 รถยังมีสภาพที่ดีพร้อมใช้งาน ไม่โทรมมากเหมือนกับ Kiha 183 ที่ต้องนำมาปรับปรุงค่อนข้างมาก โดยรถดีเซลราง Kiha 40 และ Kiha 48 มีอายุการใช้งานมาแล้วประมาณ 40 ปี ใช้งานได้อีก 10-15 ปี หากซ่อมบำรุงครบตามวาระโดย Kiha 40 มีห้องขับ 2 ห้อง และ Kiha 48 มีห้องขับเดียว มีความสะดวกต่อการใช้งานมากโดยเฉพาะรถดีเซลราง Kiha 40 จะสามารถขับเคลื่อนด้วยตนเองแบบคันเดียวได้เลย เพราะมีห้องขับทั้งด้านหน้า และด้านท้าย ซึ่งสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ประมาณ 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งนี้รถสองรุ่นดังกล่าวเป็นรถแอร์ติดตั้งระบบปรับอากาศขนาด 30,000 Kcal หรือ 119,100 บีทียู ถือว่ามีความเย็นเพียงพอต่อการใช้งานเมื่อนำมาใช้ในประเทศไทย

สำหรับรถดีเซลราง Kiha 40 มี 68 ที่นั่ง และ Kiha 48 มี 82 ที่นั่ง ไม่รวมผู้โดยสารยืน แต่ละที่นั่งเป็นเบาะหลังตรง ไม่สามารถปรับเอนได้เหมือน Kiha 183 เป็นเหมือนรถไฟชั้น 3 โดยที่นั่งบนรถ Kiha 40 และ Kiha 48 มีทั้งแบบนั่งตรงข้ามกัน และแบบม้านั่งยาว ส่วนห้องสุขาเป็นระบบปิด (ไม่ปล่อยลงพื้น) แบบนั่งยอง ซึ่งเป็นโจทย์ที่ รฟท. ต้องมาปรับเปลี่ยนแก้ไขตามกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไปต่อไป ทั้งนี้สำหรับขบวนรถไฟ Kiha 40 และ Kiha 48 ทั้ง 20 คัน รฟท. ว่าจ้างบริษัท กรีนเจนเนอเรชั่นฯ วงเงิน 48.6 ล้านบาท ขนย้ายมาจากท่าเรือนีงาตะ ประเทศญี่ปุ่น และถึงท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.67 จอดตากแดดตากฝนที่สถานีรถไฟแหลมฉบังเป็นเวลากว่า 9 เดือน.