เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ ติดตามบรรยากาศการซื้อขายของป่า หรืออาหารป่า ที่ตลาดโสกหินขาว รอยต่อบ้านกุดโดน อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ ติดกับ ต.อิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งตัดผ่านป่าสงวนแห่งชาติดงระแนง พบว่ากำลังคึกคักเป็นอย่างมาก โดยมีบรรดาพ่อค้า แม่ค้า และประชาชนที่ขับรถสัญจรผ่านไปมา แวะจอดซื้อ “อาหารตามฤดูกาล” ส่งผลให้เงินสะพัดในแต่ละวันนับแสนบาท
นางสายฝน อาจดวงดี อายุ 52 ปี แม่ค้าขายไข่มดแดงบ้านนาคำ ต.กุดโดน อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าหลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีฝนตกลงมาในพื้นที่ ส่งผลให้ผืนป่าสงวนแห่งชาติดงระแนงมีความชุ่มชื้น และเกิดอาหารป่าตามธรรมชาติขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เช่น รังผึ้ง ผลไม้ป่า ผักหวานป่า หวาย ดอกกระเจียว แมงจักจั่น แมงจินูน โดยเฉพาะไข่มดแดง ตนและเพื่อนบ้านในหมู่บ้านรอบๆชายป่าดงระแนง ก็จะเข้าป่าหาเก็บของป่ามารับประทานในครัวเรือน วันไหนหาได้มากก็จะนำมาขาย
นางสายฝน กล่าวอีกว่า อาหารป่ายอดนิยมที่สุดก็คือไข่มดแดง ที่ได้ชื้อว่า “อาหารชั้นสูง” เพราะหายาก ปีละครั้ง เพียงระยะสั้นๆแค่ 2 เดือนเท่านั้น คือเดือน มีนาคม-เมษายน โดยจะนำอุปกรณ์ไปหาแหย่ไข่มดแดงด้วยตนเอง จากนั้นนำมาขายกองละ 100 บาท มีรายได้เฉลี่ยวันละ 500 บาท ขณะที่บางคนก็จะหาเก็บทั้งผักหวานป่า ผักกระเจียว หรือรับซื้อของป่าจากเพื่อนบ้านมาขายต่อ ทำให้มีรายได้วันละ 500-1,000 บาท สำหรับตนมีรายได้ประมาณเดือนละ 10,000 บาท ถือว่าเป็นช่วงทำเงินในรอบ 2 เดือน คือ 20,000 บาท
หากมองในภาพรวมแม่ค้าที่ตลาดโสกหินขาวประมาณ 50 คน เฉลี่ยมีรายได้จากการขายไข่มดแดงไม่น้อยกว่า 200,000 บาท ทีเดียว หลังจากนั้นอาหารป่าในช่วงรอยต่อฤดูแล้งกับสู่ฤดูฝนก็จะหมดไป และเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนก็จะเป็นช่วงที่เห็ดป่าออก ซึ่งตนกับเพื่อนบ้านก็จะเข้าป่าไปหาเก็บเห็ดป่ามาวางขายอีก
อย่างไรก็ตาม ตลาดโสกหินขาวแห่งนี้ ตั้งขึ้นมากว่า 50 ปี หลังมีการตัดถนนผ่านป่าสงวนแห่งชาติดงระแนง เชื่อมระหว่างปากทางบ้านฮองฮี ผ่านพื้นที่ ต.คลองขาม ต.อิตื้อ ต.โนนสูง อ.ยางตลาด กับ ต.กุดโดน อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ เดิมสภาพผืนป่ามีความอุดมสมบูรณ์ ฝนตกต้องตามฤดูกาล จึงมีอาหารป่าหรือผลผลิตจากป่าเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านเก็บมาตั้งเพิงขายริมทางตลอดปี มีพ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่และต่างถิ่น เข้ามารับซื้อไปจำหน่ายขายส่งตามตลาดทั่วไป จึงกลายเป็นตลาดของป่าที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ และทำให้ชาวบ้านมีอาชีพจากการเก็บผลผลิตจากป่ามาขาย สร้างมูลค่าจากอาหารป่าปีละหลายล้านบาท.
ภาพ/ข่าว – ยุทธนา เกียรติดำเนินงาม จ.กาฬสินธุ์