“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์“ รายงานว่า ขณะนี้โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบสะพานปากนาย ข้ามเขื่อนสิริกิติ์ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์-อ.นาหมื่น จ.น่าน ที่กรมทางหลวง (ทล.) ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด บริษัท วี เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ธรรมชาติ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด รวมการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA : อีไอเอ) วงเงินประมาณ 29 ล้านบาท ได้ศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว

พร้อมนำอีไอเอเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาเห็นชอบและใช้เวลาปรับแก้ไขหากมีข้อแนะนำให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 รวมทั้งต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอเปลี่ยนพื้นที่อุทยานแห่งชาติฯ เป็นพื้นที่ป่าไม้ เพื่อใช้ก่อสร้างโครงการตามขั้นตอนข้อกฎหมายด้วย โดยยังคงแผนงานก่อสร้างเช่นเดิมคือตั้งงบประมาณก่อสร้างปี 2570 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี เปิดบริการปี 2573
วงเงินก่อสร้างโครงการ 1,750 ล้านบาท รวมระยะทางโครงการ 2,390 เมตร แนวเส้นทางเริ่มต้น กม.100+238 ของทางหลวงหมายเลข 1339 (ทล.1339 ตอน อ.น้ำปาด-บ้านปากนาย) พื้นที่ ต.ท่าแฝก อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติลําน้ำน่าน ข้ามเวิ้งของอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ด้วยโครงสร้างสะพานยาว 346 เมตร ต่อเนื่องด้วยคันทางในเขตอุทยานแห่งชาติลําน้ำน่านอีก 186.50 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร (ไปกลับ) ความกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านในและด้านนอกกว้าง 1.00 เมตร มีเกาะกลางแบบกำแพง/ราวกั้น

จากนั้นข้ามอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ด้วยโครงสร้างสะพานยาว 1,139 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร (ไปกลับ) กว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.00 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร มีเกาะกลางแบบกำแพงหรือราวกั้นและมีทางเท้ากว้างข้างละ 1.50 เมตร แนวเส้นทางลดระดับเข้าเชื่อมทล. 1026 ตอน บ.ปากนาย-อ.นาหมื่น บริเวณ กม.75+400 พื้นที่ ต.นาทะนุง อ.นาหมื่น จ.น่าน ในอนาคตเมื่อปริมาณจราจรเพิ่มขึ้น ขยายสะพานเป็น 4 ช่องได้โดยไม่ต้องก่อสร้างสะพานใหม่ เนื่องจากออกแบบเขตทางไว้กว้างเพียงพอ

พร้อมออกแบบงานสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรมและตกแต่งเสาไฟฟ้าส่องสว่าง ให้สอดคล้องเชื่อมโยงอัตลักษณ์ จ.น่าน และอุตรดิตถ์ รวมถึงออกแบบจุดชมวิวบนสะพานบริเวณกึ่งกลางอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ โดยนักท่องเที่ยวจอดรถได้ที่จุดจอดรถบริเวณเชิงสะพานทั้งฝั่งอุตรดิตถ์ และฝั่งน่าน
มีจุดกลับรถใต้สะพาน 2 จุด
1. บริเวณ ทล.1339 ฝั่งจ.อุตรดิตถ์ ออกแบบทางบริการขนาด 2 ช่องจราจร เดินรถ 2 ทิศทาง ช่องจราจรละ 3.50 เมตร มีความสูงช่องลอดสะพาน 3.00 เมตร
2. บริเวณ ทล.1026 ฝั่ง จ.น่าน ออกแบบทางบริการฝั่งขวาทางขนาด 2 ช่องเดินรถ 2 ทิศทาง ช่องจราจรละ 3.00 เมตร

ออกแบบทางบริการฝั่งซ้ายทางขนาด 1 ช่องเดินรถทิศทางเดียว ขนาดช่องจราจร 4.00 เมตร มีความสูงช่องลอดใต้สะพาน 5.50 เมตร รองรับความสูงของรถยนต์ทุกประเภท จุดกลับรถฉุกเฉิน 2 จุด บริเวณ กม.1+077 และ กม.1+379 บนสะพานข้ามอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ให้กู้ภัยเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว
สะพานปากนายข้ามเขื่อนสิริกิติ์ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์-อ.นาหมื่น จ.น่าน จะช่วยให้การเดินทางและการขนส่งสินค้า สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยยิ่งขึ้น ร่นเวลาเดินทางด้วยแพขนานยนต์