ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นใน วันที่ 24-26 มี.ค.นี้ เชื่อได้ว่า มีประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก คือ การเอื้อนายทุนหรือธุรกิจใหญ่ใดๆ ที่เป็นข้อครหามาตั้งแต่สมัย “อดีตนายกฯแม้ว” ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพ่อ ที่ส่งต่อมาถึง ดีเอ็นเอ สายเลือดตรง “นายกฯอิ๊งค์”แพทองธาร ชินวัตร ว่า นโยบายของรัฐบาลทำให้ “รวยกระจุก จนกระจาย” กรณีการ “เอื้อนายทุน” ที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยๆ คือ “นายทุนพลังงาน” ที่มีการสื่อสารให้ประชาชนรับทราบอยู่เรื่อย ๆ ถูกตั้งคำถามว่า การที่เราต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพง เพราะรัฐบาลซื้อไฟฟ้าสำรองมากเกินความจำเป็นหรือไม่ ซึ่งก็เป็นการซื้อจากเอกชน เหตุผลคือ “เพื่อไม่ให้เกิดภาวะไฟฟ้าขาดแคลนในยามที่อุปสงค์เพิ่มมากขึ้น”
และเรื่องที่โหมโรงกันโดยฝ่ายต่อต้านรัฐบาล อย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตคนเคยรักนายกฯ แม้ว หรือ บรรดา“ขาประจำ” รายอื่นๆ พูดดักคอไว้เลยว่า “โครงการกาสิโน หรือเอนเตอร์เทนเมนท์คอมเพลกซ์นี่แหละ ถ้ารัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เดินหน้าจะทำต่อ จะปลุกประเด็นม็อบได้เหมือนตอนพ่อแม้วขายหุ้นชินคอร์ปฯ โดยไม่เสียภาษี”
ซึ่งทางฝ่ายค้าน ก็ยืนยันหนักแน่นว่าในเรื่องกาสิโน จะกำหนดหลักเกณฑ์อะไรขึ้นมาก็ตาม ตรงนี้ไม่สามารถรับประกันได้ว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมไทย ตัวอย่างประเทศที่ล้มเหลวก็มี จนต้องมีการควบคุมอย่างหนัก เช่น มาเก๊าที่กลายเป็นแหล่งฟอกเงิน หรือฟิลิปปินส์ที่กลายเป็นบ่อเกิดอาชญากรรม ตรงนี้อาจทำให้คดีลักพาตัว อุ้มหายในไทยเพิ่มขึ้นด้วย
แม้รัฐบาลจะอ้างผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ ที่มี“เสี่ยหนิม”จุลพันธ์ อมรวัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธานกมธ.ระบุถึงความจำเป็นต้องลงทุนทางเศรษฐกิจใหม่เพิ่ม แต่นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา (TDRI ) โพสต์เฟซบุ๊ก ชี้ให้เห็นถึงปัญหาตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำว่า รัฐบาลยังไม่มีข้อสรุปต่อแนวทางดำเนินการในหลายเรื่องที่สำคัญ
“ปัญหาใหญ่ที่สุดของการจัดทำร่างกฎหมายกาสิโนของรัฐบาลคือ ยกร่างกฎหมายขึ้นมาโดยไม่มีรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study) ไม่ได้มีการวิเคราะห์ตลาดกาสิโนในภูมิภาคอย่างเป็นระบบเลย ไม่ว่าจะเป็นขนาดตลาดในภูมิภาค จุดอ่อน-จุดแข็ง และตำแหน่งของประเทศต่างๆ ที่มีบริการกาสิโน
ไม่ได้วิเคราะห์ถึงพฤติกรรมของนักพนันกลุ่มต่างๆ ทั้งที่ต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยกาสิโน เพื่อแข่งกับประเทศที่เปิดอยู่แล้วในภูมิภาคเดียวกัน ไม่เห็นการวิเคราะห์ตลาดธุรกิจกาสิโนในภูมิภาคในเชิงลึก รายงานไม่มีข้อสรุปว่า จะทำกาสิโนในระดับไหน ควรมีผู้ประกอบการกี่ราย จะสร้างรายได้ให้รัฐต่อปีเท่าใดกันแน่ ที่ไม่ใช่ตัวเลขลอยๆ เป็นหมื่นล้าน
เมื่อไม่ได้ศึกษาตลาดกาสิโนในไทยมากพอ แต่กลับไปขั้นออกร่างกฎหมายที่รัฐบาลกำหนดค่าธรรมเนียมและใบอนุญาตได้ไปแล้ว กำหนดในอัตราคงที่ไม่เกิน 5 พันล้านบาทสำหรับอายุใบอนุญาต 30 ปี บวกกับค่าธรรมเนียมรายปีอีกปีละไม่เกิน 1 พันล้านบาท กฎหมายยังไม่มีข้อกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจ่ายภาษีกาสิโนกี่เปอร์เซ็นต์”
นักวิชาการจาก ทีดีอาร์ไอ. ยังตั้งข้อสังเกตว่าการคัดเลือกผู้ได้ใบอนุญาต ใช้วิธีให้คะแนนตามหลักเกณฑ์ที่ฝ่ายการเมืองกำหนด แทนที่จะแข่งขันด้วยการประมูล ทำให้เสี่ยงต่อการที่ฝ่ายการเมืองใช้ดุลพินิจออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการบางรายและอาจเกิด“เงินทอน”ได้ อีกทั้งกฎหมายก็ยังไม่มีมาตรการป้องกันการฟอกเงินชัดเจน
แนวทางของทีดีอาร์ไอ.มาแบบนี้ เชื่อว่า อดีตลูกหม้อทีดีอาร์ไอ“ อ.ไหม” ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) คงศึกษารายงานเชิงลึก เพื่อมาถลกรัฐบาลว่า “ปล่อยกฎหมายมีช่องโหว่ขนาดนี้เพื่อเอื้อใครหรือไม่” แม้กฎหมายยังไม่ออกก็ตาม แต่ก็ชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลได้ และลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล
เมื่อเรื่องนี้ทำท่าจะมีผลกระทบต่อสังคมมาก ก็ต้องให้ “นายกฯ” ยืนยันความโปร่งใสและมาตรการแก้ผลกระทบในสภา.