เมื่อเวลา 13.20 น. วันที่ 21 มี.ค. 68 ที่รัฐสภา ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวชี้แจงกรณีมีกระแสข่าวการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า อาจถูกเลื่อนออกไป ไม่สามารถดำเนินการตามญัตติที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร บรรจุไว้ เนื่องจากมีการตรวจสอบพบญัตติของฝ่ายค้านมีปัญหาเรื่องความถูกต้องจากการแค่เพียงขีดฆ่าชื่อของ “นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี” แล้วเปลี่ยนเป็น “บุคคลในครอบครัว” แล้วเซ็นกำกับโดยผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา มีหนังสือจาก สส.ที่เห็นต่างรายหนึ่งส่งถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแจ้งข้อห่วงใยในเรื่องดังกล่าวว่าจะผิดข้อบังคับและรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมองว่ากรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นญัตติที่เสนอตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ทุกคนจึงมีสถานะเป็นผู้เสนอร่วมกันในจำนวนผู้เสนอ แตกต่างจากญัตติทั่วไปที่ไม่ได้มีการรับรองลายมือชื่อ สส.คนดังกล่าวที่ห่วงใยจึงมองเทียบเคียงกับกรณีการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ถือเป็นญัตติอย่างหนึ่งที่มีผลทางกฎหมาย มีข้อบังคับข้อ 112 กำหนดชัดว่า การแก้ไขร่างพ.ร.บ.ต้องเป็นการแก้ไขโดยผู้เสนอจะต้องมีการรับรองลายมือชื่อจากผู้เสนอทุกคน
เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวต่อว่า แต่ในตัวญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ได้กำหนดไว้ในลักษณะแบบนี้ ต่างจากร่างพ.ร.บ.ที่ต้องมีชื่อผู้รับรองในกรณีมีการแก้ไข ทางสำนักการประชุมฯ จึงได้นำเสนอความเห็นเรียนประธานฯ ยืนยันในความถูกต้อง หากย้อนหลังไปในวันที่ประธานฯ ประชุมกับผู้นำฝ่ายค้านฯ เพื่อหารือเรื่องการแก้ไขญัตติ ผู้นำฝ่ายค้าน ได้สอบถามประเด็นดังกล่าวต่อประธานฯ ว่าจะดำเนินการแก้ไขในลักษณะเดียวกับเมื่อยุคของนายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร เคยดำเนินการ คือมีหนังสือนำยืนยันว่าไม่มีข้อบกพร่องในญัตติ แต่ขอแก้ไขเพื่อให้การประชุมผ่านพ้นไปได้ และแก้ไขตัวญัตติในลักษณะเดียวกันกับที่เคยดำเนินการในยุคนายชวนได้หรือไม่ สำนักการประชุมฯ ยืนยันในวันนั้นว่าสามารถดำเนินการได้ ถ้าเป็นกรณีของญัตติ ไม่ใช่การแก้ไขร่างพ.ร.บ. แม้ว่าจะเป็นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตาม มาตรา 151 ที่แตกต่างจากญัตติทั่วไป แต่ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องแก้ไขและมีชื่อผู้รับรอง หากจะนำมาเทียบเคียงกับข้อบังคับข้อ 112 ก็ไม่ตรง เพราะเป็นกรณี สส.เสนอแก้ไข
“แต่ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ขอแก้ไขเป็นกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้แก้ไข จะตรงกับข้อบังคับ ข้อ 111 มากกว่า ดังนั้นสำนักการประชุมฯ ยืนยันว่าดำเนินการด้วยความถูกต้องชอบด้วยข้อบังคับและรัฐธรรมนูญ” เลขาธิการสภา กล่าว
ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ กล่าวต่อว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 24-25 มี.ค.นี้ สามารถดำเนินการได้ตามปกติ แต่ถ้าในการประชุมมีสมาชิกลุกขึ้นท้วงติง ทางประธานฯ และสำนักการประชุมฯ จะชี้แจงเพื่อยืนยันความถูกต้องในการแก้ไขญัตติของผู้นำฝ่ายค้านฯ รวมถึงการอนุญาตให้บรรจุระเบียบวาระการประชุม ส่วนจะมีปัญหาในการอภิปรายหรือไม่นั้น ต้องไปดูว่าจะมีสมาชิกนำเรื่องนี้มาท้วงติงหรือไม่ ทางสำนักการประชุมฯ ยืนยันว่าเป็นกระบวนการที่อยู่ในการดำเนินการระหว่างประธานฯ กับผู้นำฝ่ายค้านฯ ในการแก้ไขข้อบกพร่องของญัตติ หากสมาชิกมีข้อสงสัย ก็มีกระบวนการตรวจสอบกลั่นกรองว่าประธานใช้ดุลพินิจใช้อำนาจถูกต้องหรือไม่
เมื่อถามถึง กรณีเมื่อครั้งที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร สส.ในขณะนั้น สับเปลี่ยนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่เสนอต่อประธานรัฐสภา โดยไม่มีสมาชิกลงชื่อรับรอง จนเกิดเป็นคดีฟ้องร้องต่อศาลฯ เลขาฯ สภา กล่าวว่า กรณีนี้เป็นที่มาที่ทำให้เกิดการแก้ไขข้อบังคับ ข้อ 112 ที่ได้มากำหนดไว้ว่าหากมีการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ในสาระสำคัญซึ่งเป็นการแก้ไขของสมาชิกต้องมีสมาชิกร่วมลงชื่อรับรอง แต่กรณีการโต้แย้งดังกล่าวเป็นการนำการแก้ไขร่างพ.ร.บ.มาเทียบเคียงกับการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทำให้เกิดข้อกังวลขึ้น ซึ่งจะนำมาเทียบเคียงกันไม่ได้ เพราะข้อบังคับเกี่ยวกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ไม่ได้กำหนดไว้ เป็นเพียงข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านที่คณะรัฐมนตรีจะต้องมาชี้แจงแก้ไข แต่ร่างพ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายที่จะไปบังคับใช้กับประชาชนในสิ่งที่เกิดขึ้น มันซับซ้อนกว่า.