น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากรายงานตัวเลขการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มีจำนวน 181 ราย เพิ่มขึ้น 68% ในช่วง 2 เดือน ปี 2568 (มกราคม – กุมภาพันธ์) เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 41 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 140 ราย เงินลงทุนรวม 35,277 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% และจ้างงานคนไทย 1,344 คน เพิ่มขึ้น 140%
โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ญี่ปุ่น 38 ราย คิดเป็น 21% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 13,676 ล้านบาท 2. จีน 23 ราย คิดเป็น 13% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 5,113 ล้านบาท 3. สิงคโปร์ 23 ราย คิดเป็น 13% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 4,490 ล้านบาท 4. สหรัฐอเมริกา 19 ราย คิดเป็น 11% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 1,372 ล้านบาท และ 5. ฮ่องกง 16 ราย คิดเป็น 9% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย มีเงินลงทุน 1,587 ล้านบาท
นอกจากนี้ การลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของนักลงทุนต่างชาติ ในช่วง 2 เดือน มีจำนวน 57 ราย คิดเป็น 31% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย เพิ่มขึ้น 63% มีมูลค่าการลงทุน 17,546 ล้านบาท คิดเป็น 50% ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจาก ญี่ปุ่น 19 ราย ลงทุน 8,096 ล้านบาท จีน 14 ราย ลงทุน 2,751 ล้านบาท สิงคโปร์ 8 ราย ลงทุน 2,191 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ อีก 16 ราย ลงทุน 4,508 ล้านบาท
“การเข้ามาประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมข้างต้น มีส่วนช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย ทั้งนี้ รัฐบาลมุ่งมั่นส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาค โดยเน้นการดึงดูดการลงทุนที่ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลก ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้กับแรงงานไทย เพื่อเสริมสร้างโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน” น.ส.ศศิกานต์ กล่าว