เมื่อวันที่ 30 มี.ค.68 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH: Earthquake Research Center of Thailand) จัดการเสวนา “วิจัยมีคำตอบ ลดตระหนก สร้างตระหนัก สู่ทางรอดภัยแผ่นดินไหว” โดยได้รับเกียรติจากน.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH: Earthquake Research Center of Thailand) ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์สารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วช.

น.ส.ศุภมาสกล่าวว่าสถานการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.2 ตามมาตราริกเตอร์ บริเวณรอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ และหลายพื้นที่ในประเทศไทย อว. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลทั้งด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นศูนย์รวมนักวิจัย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และองค์ความรู้ที่จะนำทางประเทศ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือเพื่อผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทาง และความร่วมมือในด้านการวิจัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบุคคลหรือหน่วยงานในต่างประเทศ ซึ่ง อว.ได้นำทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) แชมป์โลก 10 สมัย เข้าพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ กรณีเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง โครงการอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ซึ่งอยู่ในระหว่างก่อสร้างบริเวณ ถนนกำแพงเพชร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เกิดถล่มลงมาทำให้มีผู้บาดเจ็บและสูญหายเป็นจำนวนมาก
ในฐานะ อว. โดย ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ของ วช. ได้ผลิตผลงานวิจัยเพื่อสนับสนุนข้อมูลในการออกกฎกระทรวงและมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหว ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา สำหรับระบบตรวจวัดแผ่นดินไหว ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมืองในการจัดทำคู่มือสำรวจความเสียหายขั้นต้น และร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในการให้ความรู้และบริการวิชาการแก่ประชาชน อีกทั้งยังส่งทีมวิศวกรอาสาของเครือข่าย อว. ร่วมตรวจสอบอาคารต่าง ๆ อย่างเร่งด่วน และประเมินความเสียหายอาคารเบื้องต้นจากแผ่นดินไหวเพื่อความปลอดภัยต่อตนเองและครอบครัว

ทางด้าน ดร.วิภารัตน์ กล่าวกว่าสถานการณ์แผ่นดินไหวบริเวณรอยเลื่อนสะกาย จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่เมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งประเทศไทยรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงกรุงเทพฯ เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลกระทบให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน เศรษฐกิจ และสร้างความวิตกกังวลกับประชาชน วช. ภายใต้กระทรวง อว. จึงร่วมกับ EARTH จัดกิจกรรมเสวนา “วิจัยมีคำตอบ ลดตระหนก สร้างตระหนัก สู่ทางรอดภัยแผ่นดินไหว” ในครั้งนี้
จากข้อมูลงานวิจัยและนวัตกรรมภายใต้การสนับสนุนของ วช. ด้านภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่ผ่านมา วช. มีการดำเนินการสนับสนุนทุนอุดหนุนการวิจัยเกี่ยวกับภัยพิบัติแผ่นดินไหว อาทิ เรื่องของรูปแบบการเกิดและผลกระทบจากแผ่นดินไหว การรับมือและการเตรียมความพร้อมในด้านวิศวกรรม เป็นต้น ซึ่งการเตรียมพร้อมการรับมือหากเกิดภัยพิบัติที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง พร้อมผลักดันการศึกษาวิจัยที่ครอบคลุมทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับแผ่นดินไหว และภัยธรรมชาติอื่น ๆ อาจเกิดขึ้นได้จากแผ่นดินไหว ให้ทัดเทียมกับนานาชาติ และผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์สำหรับการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว อีกทั้งได้ทำงานร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาสำหรับระบบตรวจวัดแผ่นดินไหว โดยทำงานร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมืองในการจัดทำคู่มือสำรวจความเสียหายขั้นต้น และทำงานร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในการให้ความรู้และบริการวิชาการแก่ประชาชนอีกด้วย

ขณะที่ ศ.ดร.เป็นหนึ่ง กล่าวถึงการศึกษาเกี่ยวกับแผ่นดินไหวเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับรอยเลื่อนสะกาย เป็นหนึ่งในรอยเลื่อนที่มีพลังมากที่สุดเป็นอันดับสามของโลก รอยเลื่อนดังกล่าวตั้งอยู่ในเมียนมา และมีศักยภาพในการก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย โดยพื้นที่กรุงเทพฯ มีความอ่อนไหวต่อแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว เนื่องจากลักษณะทางธรณีวิทยาของพื้นที่ที่เป็นแอ่งดินอ่อน ชั้นดินดังกล่าวสามารถเพิ่มระดับความรุนแรงของการสั่นสะเทือนได้มากกว่าพื้นที่ที่มีชั้นดินแข็งถึงประมาณสามเท่า และกรุงเทพฯ มีอาคารสูงอยู่เป็นจำนวนมากจึงมีความเสี่ยงต่อ “ปรากฏการณ์กำทอน” (resonance effect) ซึ่งอาจทำให้เกิดการโยกไหวที่รุนแรงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ได้ประเมิน ความรุนแรงของกการเกิดแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นกับกรุงเทพ มี 3 รูปแบบด้วยกัน คือ 1.แผ่นดินไหวระดับ 7-7.5 ที่ จ.กาญจนบุรี 2.แผ่นดินไหว 7.5-8 ที่รอยเลื่อนสะกาย ที่เมียนมา 3.แผ่นดินไหว 8.5-9 ที่แนวมุด อาระกัน (Arakan) ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตกของเมียนมา และบางส่วนอยู่ในทะเล ซึ่ง 1 ใน 3 ของรูปแบบที่กล่าวมานั้นจะส่งผลให้กรุงเทพมหานครเกิดความเสียหาย

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเสวนา “วิจัยมีคำตอบ ลดตระหนก สร้างตระหนัก สู่ทางรอดภัยแผ่นดินไหว” ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
ประเด็น “ลักษณะการเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้” โดย รศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา ธรณีสัณฐานและแผ่นดินไหว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ประเด็น “การออกแบบอาคารในไทยต้านทานแผ่นดินไหว” โดย ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ประเด็น “ระบบตรวจวัดอาคารขณะเกิดแผ่นดินไหว” โดย ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH: Earthquake Research Center of Thailand) และอาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
ดำเนินรายการเสวนาโดย ผศ.ดร.ปานนท์ ลาชโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ทั้งนี้ การเสวนา “วิจัยมีคำตอบ ลดตระหนก สร้างตระหนัก สู่ทางรอดภัยแผ่นดินไหว” จัดขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแผ่นดินไหวแก่ประชาชน โดยเน้นการลดความตระหนกและเพิ่มความตระหนักถึงภัยแผ่นดินไหว รวมถึงนำเสนอแนวทางการรับมือและการป้องกันที่เหมาะสม ผ่านงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม เช่น ลักษณะการเกิดแผ่นดินไหว การออกแบบอาคาร
ที่สามารถต้านทานแผ่นดินไหว และระบบตรวจวัดอาคารขณะเกิดเหตุ นอกจากนี้ยังเป็นเวทีสำหรับผู้เชี่ยวชาญในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวทางปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้ได้จริง