สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) แจ้งว่า คณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ซึ่งมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เป็นประธาน ได้ออกข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 101 มาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารเที่ยวบินแบบประจำในประเทศและระหว่างประเทศ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 2568 ซึ่งข้อบังคับฉบับใหม่นี้ ได้เพิ่มความคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารกรณีเที่ยวบินระหว่างประเทศล่าช้า หรือยกเลิก โดยไม่ได้แจ้งผู้โดยสารล่วงหน้า และผู้โดยสารเดินทางถึงสนามบินแล้ว

กรณีเที่ยวบินระหว่างประเทศล่าช้าเกิน 2 ชั่วโมง สายการบินต้องจัดอาหาร และเครื่องดื่ม หรือคูปองสำหรับแลกซื้ออาหาร และเครื่องดื่มให้แก่ผู้โดยสารตามความเหมาะสมกับมื้ออาหาร และระยะเวลาที่รอขึ้นอากาศยาน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และจัดอุปกรณ์ให้แก่ผู้โดยสารเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารด้วยวิธีการใด ๆ เช่น โทรศัพท์ e-mail ตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

กรณีเที่ยวบินระหว่างประเทศล่าช้าเกิน 5 ชั่วโมง สายการบินต้องจัดอาหาร และเครื่องดื่ม และอุปกรณ์สื่อสารเช่นเดียวกับกรณีล่าช้าเกิน 2 ชั่วโมง และต้องชำระค่าชดเชยเป็นเงินสดให้แก่ผู้โดยสาร 1,500 บาท หรือเป็นวงเงินเพื่อใช้ในการเดินทางครั้งต่อไป (credit shell) หรือบัตรกำนัลการเดินทาง (travel vouchers) หรือไมล์สะสมตามโครงการสะสมไมล์ หรือสิ่งอื่นแทนค่าชดเชยดังกล่าว โดยมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าการชำระค่าชดเชยเป็นเงินสด ภายในระยะเวลาไม่เกิน 14 วัน นับแต่วันที่เกิดเหตุเที่ยวบินล่าช้า, จัดที่พักพร้อมการรับส่ง หากต้องมีการพักค้างคืน และเมื่อผู้โดยสารไม่ประสงค์เดินทางต่อ สายการบินต้องเสนอทางเลือกแก่ผู้โดยสารทันที เพื่อพิจารณาเลือกระหว่างรับเงินค่าโดยสารคืน หรือรับวงเงินเพื่อใช้ในการเดินทางครั้งต่อไป หรือบัตรกำนัลการเดินทาง หรือไมล์สะสมตามโครงการสะสมไมล์ หรือสิ่งอื่นทดแทน

กรณีเที่ยวบินระหว่างประเทศล่าช้าเกิน 10 ชั่วโมง สายการบินต้องจัดอาหารและเครื่องดื่ม และอุปกรณ์สื่อสารเช่นเดียวกับกรณีล่าช้าเกิน 2 และ 5 ชั่วโมง และต้องเสนอทางเลือกทั้งหมดแก่ผู้โดยสารทันที เพื่อพิจารณาเลือกระหว่าง 1.รับค่าชดเชยเป็นเงินสดภายในระยะเวลาไม่เกิน 14 วันนับแต่วันที่เกิดเหตุ 2,000 บาท สำหรับเที่ยวบินที่มีระยะทางไม่เกิน 1,500 กิโลเมตร(กม.), 3,500 บาท สำหรับเที่ยวบินที่มีระยะทาง 1,500- 3,500 กม. และ 4,500 บาท สำหรับเที่ยวบินที่มีระยะทางเกิน 3,500 กม. หรือ 2. รับค่าชดเชยเป็นวงเงินเพื่อใช้ในการเดินทางครั้งต่อไป หรือบัตรกำนัลการเดินทาง หรือไมล์สะสมตามโครงการสะสมไมล์ หรือสิ่งอื่นแทนค่าชดเชยดังกล่าว โดยมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าการชำระค่าชดเชยเป็นเงินสด ภายในระยะเวลาไม่เกิน 14 วัน, จัดที่พักพร้อมการรับส่ง หากต้องมีการพักค้างคืน

เมื่อผู้โดยสารไม่ประสงค์เดินทางต่อไป สายการบินต้องเสนอทางเลือกทั้งหมดแก่ผู้โดยสารทันทีเพื่อพิจารณาเลือกระหว่าง 1.รับเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่นใดที่ถูกเรียกเก็บคืนเต็มตามจำนวน หรือรับเป็นวงเงินเพื่อใช้ในการเดินทางครั้งต่อไป หรือบัตรกำนัลการเดินทาง หรือไมล์สะสมตามโครงการสะสมไมล์ หรือสิ่งอื่นทดแทน หรือ 2.เปลี่ยนแปลงเที่ยวบินเพื่อเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสารหรือไปยังจุดหมายปลายทางอื่นที่ใกล้เคียง หรือ 3.การขนส่งทางอื่นที่เหมาะสมเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสาร หรือจุดหมายปลายทางอื่นที่ใกล้เคียงกับจุดหมายปลายทางเดิม

กรณีเที่ยวบินระหว่างประเทศถูกยกเลิก หรือปฏิเสธการรับขน สายการบินต้องชดเชยผู้โดยสารเช่นเดียวกับกรณีล่าช้าเกินกว่า 10 ชั่วโมง ยกเว้นในกรณีที่สายการบินแจ้งการยกเลิกเที่ยวบินก่อนวันเวลาเดินทางไม่น้อยกว่า 7 วัน หรือในกรณีที่สายการบินแจ้งน้อยกว่า 7 วัน แต่สามารถเปลี่ยนเที่ยวบินให้ผู้โดยสารเดินทางไปยังจุดหมายที่ระบุในบัตรโดยสารได้เร็วหรือช้ากว่าไม่เกิน 3 ชั่วโมง จากวันและเวลาเดิม และในกรณีที่การยกเลิกเที่ยวบินเกิดจากเหตุการณ์ภายนอกที่ไม่อาจคาดหมาย และไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้สายการบินดำเนินมาตรการอันสมควรแล้วก็ตาม

ส่วนในกรณีเที่ยวบินในประเทศล่าช้าหรือยกเลิก ข้อบังคับฉบับใหม่นี้ได้เพิ่มค่าชดเชยหากเที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 5 ชั่วโมง จากเดิม 600 บาท เป็น 1,200 บาท และหากเที่ยวบินยกเลิก จากเดิม 1,200 บาท เป็น 1,500 บาท ซึ่งสายการบินสามารถเสนอการคืนค่าชดเชยในรูปแบบของวงเงินเพื่อใช้ในการเดินทางครั้งต่อไป หรือบัตรกำนัลการเดินทาง หรือไมล์สะสมตามโครงการสะสมไมล์ หรือสิ่งอื่นทดแทน ทั้งนี้ ค่าชดเชยจะยกเว้นเหตุอันเกิดจากเหตุการณ์ภายนอกที่ไม่อาจคาดหมายและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้สายการบินดำเนินมาตรการอันสมควรแล้วก็ตาม

ข้อบังคับฉบับใหม่นี้ ยังครอบคลุมถึงการคุ้มครองผู้โดยสารกรณีเที่ยวบินล่าช้าขณะที่เครื่องบินยังอยู่บนภาคพื้นและผู้โดยสารอยู่ในเครื่องบิน (Tarmac Delay) โดยสายการบินต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับกรณีเที่ยวบินล่าช้า และต้องจัดให้มีการไหลเวียนอากาศ การปรับอุณหภูมิ และการบริการห้องน้ำภายในห้องโดยสาร จัดให้ผู้โดยสารที่มีความจำเป็นต้องได้รับบริการทางการแพทย์อย่างเร่งด่วนเข้าถึงการได้รับบริการทางการแพทย์นั้นโดยเร็ว โดยให้ผู้ชนส่งอำนวยความสะดวกและให้บริการดังกล่าวอย่างเพียงพอและเหมาะสม เท่าที่สามารถดำเนินการได้ กรณีล่าช้าเกิน 3 ชั่วโมงและยังไม่มีกำหนดเวลาทำการบินขึ้น (take-off tine) ต้องอนุญาตให้ผู้โดยสารลงจากเครื่องบิน เว้นแต่กรณีที่อาจกระทบต่อความปลอดภัย หรือการรักษาความปลอดภัยหรือด้วยเหตุผลด้านการจัดการจราจรทางอากาศ

ข้อบังคับ กบร. ฉบับที่ 101 ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารในอุตสาหกรรมการบินของไทย โดย กพท. จะเร่งสร้างความเข้าใจให้แก่สายการบินและผู้โดยสารอย่างทั่วถึง เพื่อให้การปฏิบัติตามข้อบังคับเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้บริการทุกคน ทั้งนี้สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุ้มครองสิทธิผู้โดยสารได้ที่ https://www.caat.or.th/th/archives/97266