ปีงบประมาณ 2568 ผ่านไปแล้ว 2 ไตรมาส สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ขับเคลื่อนงานที่เป็นภารกิจหลักและโครงการสำคัญเร่งด่วน โดยยึดหลักการทำงาน “ จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” เพื่อทำให้ผู้เรียน “เรียนดี มีความสุข” ตามนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำหรับผลงานในช่วงระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่ตุลาคม 2567 ถึง มีนาคม 2568 นอกเหนือจากภารกิจหลักปกติ สพฐ.ได้ขับเคลื่อนงานโครงการสำคัญเร่งด่วนของ สพฐ. และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) บรรลุผลสำเร็จเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งในส่วนของการยกระดับคุณภาพการศึกษา การลดภาระนักเรียน ลดภาระผู้ปกครอง การลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา การนำนักเรียนที่ตกหล่นหลุดออกจากระบบการศึกษาได้กลับมาเรียน เสริมเติมเต็มด้วยนโยบาย “OBEC Zero Dropout” หรือ “ สพฐ. ไม่มีเด็กตกหล่นหรือออกกลางคัน” มีโครงการ“พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” และพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษายืดหยุ่น “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” ซึ่งมีทั้งการเรียนในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย เพราะเด็กแต่ละคนก็มีความจำเป็นที่แตกต่างกัน ต้องเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime)

การยกระดับคุณภาพการศึกษา สพฐ.ได้พัฒนาทักษะ สมรรถนะผู้เรียนให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยในส่วนของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ตามการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ได้นำระบบเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อให้นักเรียนเข้าถึงการทดสอบได้สะดวกและคุ้นชินกับการทดสอบผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล มีการพัฒนาระบบคลังข้อสอบดิจิทัล (Digital Item Bank) ช่วยให้ครูสามารถเลือกใช้ข้อสอบที่เหมาะสมในการประเมินผลการเรียนรู้นักเรียน สามารถนำไปประยุกต์ใช้และปรับปรุงการสอนตามบริบทของโรงเรียนได้ รวมทั้งพัฒนาระบบรายงานผลการทดสอบ O-NET แบบ Data Visualization เป็นรายบุคคล ให้นักเรียนสามารถนำผลไปวางแผนการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น และร่วมกับหน่วยงานต่างๆในการยกระดับการประเมินผลนักเรียนระหว่างประเทศ (PISA) ที่สะท้อนศักยภาพของนักเรียนไทยในเวทีโลก โดยมีการพัฒนาแกนนำ ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ เตรียมความพร้อมนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ทุกคน เพื่อทดลองทำข้อสอบ PISA STYLE ผ่านระบบ PISA Style Online Testing และอื่นๆ ซึ่งขณะนี้มีสถานศึกษา จำนวน 9,189 แห่ง ได้รับการส่งเสริมการประเมินความฉลาดรู้ตามแนวทางการประเมิน PISA ครบ 100% แล้ว
การลดภาระนักเรียน ลดภาระผู้ปกครอง ได้ดำเนินการตามนโยบายเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา เรียนฟรี มีงานทำ “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” ของ รมว.ศึกษาธิการ ลดการบ้าน จัดให้เด็กๆได้เข้าถึงการฝึกอบรม พัฒนาทักษะอาชีพที่จำเป็นแห่งอนาคต โดยมีผู้เรียนทั้งหมด 5,494,822 คน ได้รับการฝึกอบรมตามช่วงวัย จัดให้มีอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการ ขณะเดียวกันได้ขับเคลื่อนโครงการ “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” ให้ดียิ่งขึ้นในทุกด้าน เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้ง่าย ผู้ปกครองไม่ต้องส่งลูกหลานไปเรียนไกลบ้าน ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนในโครงการฯผ่านเกณฑ์การประเมิน School Grading โดยมีคะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 จำนวน 881 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 48.73 ของโรงเรียนในโครงการฯทั้งหมด 1,808 แห่ง

ทั้งนี้การลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา สพฐ.ได้ดำเนินการอย่างครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อให้ครูปฏิบัติหน้าที่สอนด้วยความสบายใจ มีเวลาอยู่ในห้องเรียนมากยิ่งขึ้น โดยดำเนินการในหลายโครงการ เช่น พัฒนาและต่อยอดการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยมีครูที่ได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้สินสำเร็จแล้ว จำนวน 1,658 คน รวมมูลค่าหนี้ที่แก้ไขสำเร็จสูงถึง 4,974 ล้านบาท และมีครูที่ผ่านการอบรมผ่านระบบการเรียนรู้ออนไลน์ e-learning 248 node หลักสูตร OBEC Money Coach ยกระดับความรู้ทางการเงิน จำนวน 101,332 คน และปรับลดภาระงานที่ไม่จำเป็นหรือซ้ำซ้อน ตลอดจนยกเลิกครูเวรในสถานศึกษาทั้งหมด 28,893 แห่ง และ จัดจ้างนักการภารโรงให้โรงเรียนที่มีนักเรียนได้ครบ 100% เป็นต้น
การศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ซึ่ง สพฐ. มุ่งมั่นจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ สานต่อนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ให้เกิดผลสัมฤธิ์ต่อนักเรียน ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ.