ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ‘กล้วย’ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ผลไม้ที่ผู้คนทั่วโลกบริโภคมากที่สุด แต่ยังเป็นพืชอาหารหลักอันดับ 4 รองจากข้าวสาลี ข้าว และข้าวโพด โดยมีประชากรกว่า 400 ล้านคนทั่วโลกที่พึ่งพากล้วยเป็นแหล่งพลังงานสำคัญในชีวิตประจำวัน คิดเป็นสัดส่วน 15-27% ของปริมาณแคลอรี่ที่บริโภคทั้งหมด

ทว่าล่าสุด ‘The Guardian’ สหราชอาณาจักร ได้เปิดเผยผลวิจัยจากองค์กร ‘Christian Aid’ ที่มีชื่อว่า ‘Going Bananas: How Climate Change Threatens the World’s Favourite Fruit’ โดยระบุว่า วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่เพาะปลูกกล้วย ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิที่สูงขึ้น ความแปรปรวนของปริมาณน้ำฝน ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นซ้ำ รวมถึงการระบาดของโรคพืช ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ผลผลิตกล้วยลดลง เกษตรกรขาดรายได้ และกระทบต่อความมั่นคงของชุมชนในชนบทที่ไม่ค่อยมีส่วนในการก่อให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
แม้ว่ากล้วยจะมีหลากหลายสายพันธุ์นับร้อย แต่สายพันธุ์ ‘คาเวนดิช’ ซึ่งเป็นหนึ่งในตระกูลกล้วยหอม ได้รับการคัดเลือกและปลูกกันอย่างแพร่หลายเพื่อการส่งออกในตลาดโลก เนื่องจากมีความแข็งแรง ให้ผลผลิตสูง และทนทานต่อการขนส่ง อย่างไรก็ตาม การปลูกกล้วยเพียงสายพันธุ์เดียว (monoculture) ทำให้ขาดความหลากหลายทางพันธุกรรม และส่งผลให้กล้วยกลายเป็นพืชที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมกล้วย ทั้งในด้านการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก และมีพื้นที่ปลูกกล้วยรวมกว่า 4.8 แสนไร่ โดยกล้วยน้ำว้ามีพื้นที่ปลูกมากที่สุดราว 3.3 แสนไร่ รองลงมาคือ กล้วยหอมที่มีพื้นที่ปลูกราว 6.2 หมื่นไร่ และมีกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทองมากกว่า 1.7 หมื่นครัวเรือน ซึ่งให้ผลผลิตรวมมากกว่า 1.5 แสนตันต่อปี โดยเฉพาะ ‘กล้วยหอมทอง’ กำลังกลายเป็นสินค้าส่งออกที่โดดเด่นของไทย มีการส่งออกไปยังประเทศจีน ญี่ปุ่น และตะวันออกกลางอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าในทางทฤษฎี ประเทศไทยจะมีโควต้าการส่งออกกล้วยหอมไปยังญี่ปุ่นได้ถึงปีละ 8,000 ตัน แต่ด้วยคุณภาพของกล้วยที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ ทำให้ปัจจุบันสามารถส่งออกได้จริงเพียง 2,000-3,000 ตันต่อปีเท่านั้น
และแม้ว่ากล้วยพันธุ์พื้นเมืองของไทย เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ และกล้วยหอมทอง จะมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่ากล้วยคาเวนดิช แต่เกษตรกรจำนวนมากก็เริ่มหันมาปลูกกล้วยเชิงเดี่ยวมากขึ้น เพื่อเน้นการตลาดและการส่งออก ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับโรคพืชชนิดใหม่และสภาพอากาศที่ผันผวน เช่น ฝนตกหนักผิดฤดู หรือภาวะแห้งแล้งยาวนานในฤดูฝน ซึ่งส่งผลให้ต้นกล้วยอ่อนแอ ไม่สามารถออกผล หรือให้ผลผลิตที่ไม่สม่ำเสมอ
ภัยพิบัติทางธรรมชาติเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อคุณภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการส่งออกในยุคที่ตลาดต่างประเทศมีมาตรฐานที่เข้มงวด หากภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรไม่เร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับความผันผวนของสภาพอากาศ ตั้งแต่การพัฒนาพันธุ์กล้วยให้มีความทนทาน การจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการเข้าถึงองค์ความรู้และแหล่งเงินทุนเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต ความมั่นคงของกล้วยไทยในตลาดโลกอาจสั่นคลอนในเวลาอันใกล้นี้ และผลไม้ที่เราเคยคิดว่า ‘ปลูกง่าย โตเร็ว’ อาจไม่ง่ายอย่างที่เคยเป็นมา