เมื่อวันที่ 14 พ.ค. นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมพิจารณากรณีการขนย้าย “แร่ตะกั่วคาร์บอเนต” จากห้วยคิลตี้ ผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ว่า ที่ผ่านมามีชาวบ้านร้องเรียนว่าได้ประมูลแร่ของกลางและเสียค่าภาคหลวงไปเกือบ 6 ล้านบาท แต่ไม่สามารถขนย้าย “แร่ตะกั่วคาร์บอเนต” 3,510 เมตริกตันออกมาได้ ด้วยความกังวลเรื่องสารตะกั่วรั่วไหล แต่สุดท้ายแร่กลับถูกขโมยออกไปทางประเทศเพื่อนบ้าน

คณะกรรมาธิการฯ จึงได้เชิญผู้แทนจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรมควบคุมมลพิษ, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี เข้าชี้แจงข้อมูลและรับฟังข้อเสนอแนะ

โดยผู้แทนจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี รายงานว่า เมื่อปี 2539 ผู้ประมูลได้แร่ตะกั่วคาร์บอเนต 5,275 เมตริกตัน ที่ยึดได้จากการทำเหมืองแร่เถื่อน บริเวณบ้านปรองดี้ ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี ซึ่งที่ผ่านมา ทางอุตสาหกรรมจังหวัดได้อนุญาตให้ขนย้ายออกไปแล้ว 1,765 เมตริกตัน คงเหลือในพื้นที่ 3,510 เมตริกตัน กระทั่งปี 2553 ผู้ประมูลได้รับใบอนุญาตมีแร่ไว้ในครอบครองและได้ขออนุญาตครอบครองแร่ทุกปีจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งได้ชำระค่าภาคหลวงครบแล้วเมื่อปี 2561 ขณะเดียวกันตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบันสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี ยังไม่เคยมีการอนุญาตให้ขายหรือขนแร่

ด้านผู้แทนจากกรมอุทยานแห่งชาติฯชี้แจงว่า เหมืองแร่ดังกล่าว ตั้งอยู่ก่อนมีประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรในปี 2517 กระทั่งการสัมปทานสิ้นสุดลง ไม่มีการทำเหมืองแร่แล้ว แต่ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวยังไม่ได้ถูกผนวกเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ส่วน “แร่ตะกั่วคาร์บอเนต” ของกลางปัจจุบันเริ่มกลมกลืนกับธรรมชาติ มีต้นไม้ปกคลุมและมีหญ้าขึ้น ตั้งอยู่บริเวณใกล้กับพื้นที่ชุมชน โดยที่ผ่านมา ผู้ประมูลได้ยื่นขออนุญาตขนแร่ผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ผ่านไปทางหมู่บ้านคิลตี้ แต่ไม่มีแผนและมาตรการควบคุมความปลอดภัยระหว่างการขนย้าย

นายชีวะภาพ กล่าวว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางจัดการ “แร่ตะกั่วคาร์บอเนต” เนื่องจากกองแร่ดังกล่าว ตั้งอยู่ใกล้กับชุมชนและแหล่งน้ำสำคัญ 2 แห่ง หากจะปล่อยไว้ตรงนั้น ต้องมีมาตรการป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและประชาชนที่อยู่รอบๆกองแร่ ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ครอบครองแร่ที่ต้องการขนย้าย เพราะเขาต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำเงินมาจ่ายให้รัฐเกือบ 6 ล้านบาท จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาหามาตรการที่สามารถให้ขนย้ายได้ โดยใช้หลักความเห็นอกเห็นใจ เพื่อลดการฟ้องร้องระหว่างหน่วยงานรัฐกับเอกชน แต่จะต้องตรวจสอบติดตามเพื่อควบคุมไม่ให้สารตะกั่วรั่วไหล
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ มีข้อเสนอว่าอยากให้มีการผนวกพื้นที่สัมปทานเหมืองแร่ดังกล่าวเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และผลักดันให้กลับมาอยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.