แต่ปี 2566 ตัวเลขนี้พุ่งสูงถึง 1.9 ล้านล้านหยวน! ความสำเร็จนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจาก “นโยบายเชิงรุก” ของรัฐบาลจีนที่มองพลังงานสะอาดเป็น “ทางรอด” ทั้งเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

“รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว” ได้ฉายภาพถึงการพลิกโฉมซินเจียงจากดินแดนยากจน สู่ผู้นำพลังงานสะอาดของโลกว่า จุดเริ่มต้นของความสำเร็จอยู่ที่วิสัยทัศน์ของรัฐบาลจีนที่มองการณ์ไกล เพราะไม่เพียงเห็นว่า ซินเจียงมีแดดจัด และลมแรงเหมาะสำหรับพลังงานหมุนเวียน แต่ยังมองเห็นศักยภาพในการสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมครบวงจร นโยบายแรกที่สำคัญคือการกำหนดให้ซินเจียงเป็น “ฐานพลังงานสะอาดแห่งชาติ” อย่างเป็นทางการในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 14

การประกาศนโยบายระดับชาติครั้งนี้ไม่ใช่แค่ “กระดาษเปล่า” แต่ตามมาด้วยการลงทุนมหาศาลและมาตรการจูงใจที่ทำให้ภาคเอกชนมั่นใจที่จะเข้ามาร่วมพัฒนา นักลงทุนต่างได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย ทั้งการยกเว้นภาษีเป็นเวลา 10 ปี สิทธิพิเศษในการเช่าที่ดิน และการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานจากรัฐ

ต้องใช้ส่วนประกอบท้องถิ่น 60%

แต่ “จีน” ไม่หยุดแค่นั้น รัฐบาลตระหนักดีว่าการพัฒนาจะยั่งยืนได้ต้องสร้างงานและรายได้ให้คนในพื้นที่ นี่คือที่มาของเงื่อนไขสำคัญที่ว่าอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดในซินเจียงต้องใช้แรงงานและวัตถุดิบในท้องถิ่นเป็นหลัก เช่น โรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์ต้องจัดหาโพลีซิลิคอนซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักจากเหมืองในซินเจียงไม่ต่ำกว่า 50% ในขณะที่ กังหันลมต้องมีส่วนประกอบอย่างน้อย 60% ที่ผลิตในท้องถิ่น

 เงื่อนไขเหล่านี้ดูเหมือนเป็นข้อจำกัดสำหรับนักลงทุน แต่กลับกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องในพื้นที่ เกิดเป็นคลัสเตอร์การผลิตที่ครบวงจรตั้งแต่การขุดแร่ การแปรรูป ไปจนถึงการประกอบและส่งออก

การพัฒนาอย่างเป็นระบบนี้ทำให้ซินเจียง กลายเป็น ศูนย์กลางของนวัตกรรมพลังงานสะอาดระดับโลก วันนี้ซินเจียงผลิตโพลีซิลิคอนซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ถึง 20% ของความต้องการทั่วโลก ส่วนบริษัท Goldwind ที่มีฐานการผลิตหลักในซินเจียงก็เติบโตจนกลายเป็นผู้ผลิตกังหันลมอันดับสองของโลก ความสำเร็จเหล่านี้ไม่เพียงสร้างงานหลายแสนตำแหน่ง แต่ยังดึงดูดนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกให้เข้ามาร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาค

ภาพเด็กเลี้ยงแกะสู่นักผลิตแผงโซลาร์

ภาพของเด็กเลี้ยงแกะในทะเลทรายท่ามกลางแสงแดดแผดเผา กำลังกลายเป็นอดีต วันนี้เด็กคนนั้นอาจกำลังสวมชุดนักเทคนิคในโรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์ หรือไม่ก็เป็นวิศวกรดูแลฟาร์มกังหันลมขนาดยักษ์ นี่ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนอาชีพ แต่คือการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นจริงในซินเจียง การมาถึงของอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดได้สร้างคลื่นแห่งโอกาสในการจ้างงานที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ซินเจียง กระทรวงแรงงานซินเจียงรายงานอุตสาหกรรมนี้จ้างงานชาวซินเจียงมากถึงสามแสนตำแหน่ง

งานเหล่านี้ไม่ใช่แค่แรงงานทั่วไป แต่ครอบคลุมทุกทักษะตั้งแต่แรงงานฝีมือในโรงงานผลิตชิ้นส่วนกังหันลม ไปจนถึงวิศวกรระบบพลังงานระดับสูง ที่น่าสนใจคือกว่า 60% ของตำแหน่งงานเหล่านี้ตกถึงมือชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ โดยเฉพาะชาวอุยกูร์ที่เคยมีอัตราการว่างงานสูง

โซลาร์ฟาร์มสร้างนิเวศเศรษฐกิจใหม่

Hami Solar Park ฟาร์มโซลาร์เซลล์ขนาด 1.5 ล้านแผงที่กินพื้นที่กว้างใหญ่ราวกับเมืองหนึ่งเมือง ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จนี้ ไม่เพียงผลิตไฟฟ้าได้มากพอสำหรับครัวเรือน 1.3 ล้านหลังคาเรือนเท่านั้น แต่ยังสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจใหม่ทั้งระบบด้วย

ตั้งแต่ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงพลังงาน ที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาเยี่ยมชมฟาร์มโซลาร์ขนาดมหึมา ไปจนถึงศูนย์วิจัยและพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ที่ดึงดูดนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกมาทำงานที่นี่ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการต่อปีไม่ต่ำกว่าสามพันล้านหยวน

รายได้ครัวเรือนพุ่งชัด

ผลกระทบที่จับต้องได้ชัดที่สุดคือรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในทศวรรษที่ผ่านมา หมู่บ้านที่เคยพึ่งพาการเลี้ยงสัตว์ในทะเลทรายเป็นหลัก วันนี้มีร้านค้า ร้านอาหาร และธุรกิจบริการเกิดขึ้นมากมาย เพราะเงินเดือนจากโรงงานพลังงานสะอาดที่ไหลเข้าสู่ชุมชน

สิ่งที่เกิดขึ้นในซินเจียงเป็นบทพิสูจน์ว่า แม้แต่พื้นที่แห้งแล้งที่ดูเหมือนขาดแคลนทรัพยากรก็สามารถกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจได้ หากมีการวางแผนที่ดีและนโยบายที่ชัดเจน การพัฒนาพลังงานสะอาดในซินเจียงไม่เพียงแก้ปัญหาความยากจน แต่ยังสร้างโมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบใหม่ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ใช่แค่แนวคิด แต่เป็นจริงได้ด้วยการลงมือทำอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

เรื่องราวความสำเร็จของซินเจียงสอนเราว่า ภูมิประเทศและสภาพอากาศที่ดูเหมือนเป็นข้อจำกัดสามารถแปลงเป็นจุดแข็งได้ด้วยนโยบายที่มองการณ์ไกล การส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืนเป็นเรื่องที่กินได้ และที่สำคัญยังช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในเขตชนบท

ไทยเคยพยายามปั้นโรงไฟฟ้าชุมชน

หลายปีก่อนประเทศไทยมีความพยายามอย่างมากที่จะส่งเสริมการ พัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อกระจายรายได้ และส่งเสริมเศรษฐกิจให้ไปถึงคนตัวเล็กตัวน้อย รวมถึงการช่วยสร้างตลาดแรงงานให้กับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล แต่ปัจจุบันนี้นโยบายนี้กลับไม่ได้รับความใส่ใจเท่าที่ควร

ทั้งที่ แนวนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และเพิ่มการจ้างงานในระดับท้องถิ่นได้จริง แตกต่างจากการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ซึ่งชุมชนได้ประโยชน์เพียงจากกองทุนโรงไฟฟ้าเท่านั้น ชุมชนแทบไม่มีส่วนร่วมใด ๆ กับโครงการเหล่านี้เลย

แนะทบทวนโรงไฟฟ้าชุมชนลดเหลื่อมล้ำ

การหันกลับมาทบทวนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่มุ่งเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนอาจจะเป็นทางเลือกเชิงนโยบายที่ดีสำหรับประเทศไทย ที่นอกจากจะกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มการจ้างงานในระดับฐานรากแล้ว นโยบายดังกล่าวยังช่วยส่งเสริมการลดการปลดปล่อยคาร์บอนจากภาคพลังงานของประเทศไทยในอนาคตได้อีกด้วย

แม้ว่าไทยในวันนี้อาจไม่ได้มีศักยภาพจะคิดค้นนวัตกรรมทางด้านพลังงานหมุนเวียนในราคาถูกได้เท่าจีน แต่ตัวอย่างของซินเจียงสะท้อนให้เราเห็นว่าการมีเป้าหมายเชิงนโยบายแบบคลัสเตอร์เศรษฐกิจช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างฐานอุตสาหกรรมแบบครบวงจร ลองนึกภาพว่าวันหนึ่งอีสานกลายไปเป็นศูนย์กลางพลังงานหมุนเวียนแห่งใหม่ของไทย อนาคตอีสานก็คงสามารถลดการนำเข้าไฟฟ้าจากลาวได้เป็นจำนวนมาก ซ้ำยังสามารถส่งขายไฟฟ้าสีเขียวเหล่านี้ไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย.