กลาย เป็นแรงสั่นสะเทือนทางการเมือง  หลัง ศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) มีมติเป็นเอกฉันท์สั่งให้ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม พักการปฏิบัติหน้าที่ หยุดปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแล กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รวมไปถึงการเป็นรองประธานคดีพิเศษ ไปจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย  ตามคำร้องของ สว.ที่ยื่นประธานวุฒิสภา 

โดยคำวินิจฉัยตอนหนึ่งระบุว่า “พ.ต.อ.ทวี  ส่อดส่อง” ผู้ถูกร้องที่ 2 ดำรงตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม มีหน้าที่และอำนาจในการสั่งและปฏิบัติราชการในฐานะผู้บังคับบัญชา ข้าราชการกระทรวงยุติธรรม อันรวมไปถึงดีเอสไอ  ตามคำร้องเพิ่มเติมและเอกสารประกอบ ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า พ.ต.อ.ทวี ผู้ถูกร้องที่ 2 มีกรณีตามที่ถูกร้อง จึงสั่งให้ พ.ต.อ.ทวี ผู้ถูกร้องที่ 2 หยุดปฏิบัติหน้าที่ รมว.ยุติธรรม เฉพาะในฐานะผู้กำกับดูแลดีเอสไอ และรองประธานกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ตาม รธน.มาตรา 82 วรรคสอง ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. จนกว่าศาล รธน. จะมีคำวินิจฉัย  นอกจากนี้ฝ่าย สว. ยังไปร้องต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้เอาผิดกับ อธิบดีดีเอสไอ  กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  และ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม และ พ.ต.อ.ทวี และยังร้องไปที่ศาล รธน.ให้วินิจฉัยเรื่องความผิดด้านจริยธรรมอีกด้วย

ด้าน “พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ” ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะโฆษกดีเอสไอ เปิดเผยกรณี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ถูกคำสั่งศาล รธน.สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ในส่วน กำกับดูแลดีเอสไอ จากกรณีคดีฮั้วเลือก สว.67 ว่า กระบวนการสืบสวนสอบสวน เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ไม่ได้เกี่ยวโยงกับรัฐมนตรี ส่วนจะมีผลต่อการทำงานของดีเอสไอหรือไม่นั้น ยืนยันว่าไม่มีผล เพราะพยานหลักฐานยังอยู่ในขั้นตอนการสืบสวนสอบสวน ทุกอย่าง ก็ต้องเดินไปตามปกติ หลักการทำงานของดีเอสไอ คือฟังความทั้งสองฝ่าย ต้องการให้ได้ข้อเท็จจริงที่นิ่งที่สุด 

ส่วนที่ฝั่ง สว. เริ่มเดินเกม โต้กลับอย่างต่อเนื่อง ในการเอาผิดดีเอสไอนั้น เป็นเรื่องที่ทุกคนตรวจสอบกันได้ ย้ำว่าต้องแยกเรื่องบริหารในการกำกับดูแล กับเรื่องคดี เป็นคนละส่วนกัน ซึ่งไม่กังวลว่าจะถูกดำเนินคดี ส่วนฐานความผิดในคดีฟอกเงินและอั้งยี่ที่ ดีเอสไอกำกับดูแล  เป็นภารกิจประจำตามกฎหมาย เมื่อถามว่าดีเอสไอต้อง ลดบทบาทตัวเองลง หรือไม่ เพราะ สว. มองว่าดีเอสไอเข้าไปแทรกแซงกระบวนการของ กกต. พ.ต.ต.วรณัน ยืนยันว่า วันนี้เรายังใช้กระบวนการสอบสวนตามขั้นตอนของกฎหมาย

ส่วน “นายฉลาด  ขามช่วง” สส.พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) สภา แถลงข่าวภายหลังประชุม กมธ.ป.ป.ช. ว่า ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นถึง กรณีที่มีความล่าช้า ในการพิจารณาตรวจสอบคดีฮั้วเลือก สว. ซึ่ง ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขาธิการ กกต. ในฐานะประธานกรรมการสืบสวนและไต่สวน ส่วนกลาง คณะที่ 26 ของ กกต.ชี้ว่า เพราะต้องใช้ หลายกระบวนการ มีหลายคณะ แต่ขณะนี้ก็ถือว่าคดีคืบหน้าเกินร้อยละ 50 แต่ยืนยันว่าจะต้องทำด้วยความรอบคอบ หากทำแบบสุกเอาเผากิน กกต.คงไม่มีที่อยู่  อาจถูกดำเนินคดีในภายหลังได้ ขอย้ำว่าหากมีพยาน หลักฐานเพิ่มเติมก็ส่งให้มาให้ กมธ.ได้ เพื่อส่งต่อไปให้ดีเอสไอ และกกต. ดำเนินการต่อ และยืนยันว่าในการประชุมวันนี้ ไม่มีเรื่องการเมือง ทำหน้าที่เป็นกลาง เพื่อหาข้อเท็จจริง ซึ่งผู้ร้องก็มีความพอใจในระดับหนึ่ง วันนี้มี กมธ. ที่มีชื่อถูกพาดพิง มาด้วย ซึ่งคนที่มาชี้แจงก็มาจาก จ.อำนาจเจริญ จึงให้พูดในหลักการ ส่วนข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ระหว่าง นางสุขสมรวย วันทนียกุล สส.อำนาจเจริญ พรรค ภท. กับผู้ที่ให้การพาดพิงถึง ก็อยู่ในสำนวนแล้ว ก็พยายาม ให้คุยกันด้วยเหตุด้วยผล

ส่วน “ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก” รองเลขาธิการ กกต. ในฐานะประธานกรรมการสืบสวนและไต่สวน ส่วนกลาง คณะที่ 26 ของ กกต. ซึ่งเป็นคณะที่ร่วมงานกับดีเอสไอในการตรวจสอบคดีฮั้ว สว. กล่าวภายหลังชี้แจงว่า กระบวนการไต่สวนสอบสวน หลังจากที่ สว. เข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ว่า รอให้มีการรับทราบข้อกล่าวหาก่อน ยืนยันว่ากระบวนการไต่สวน ในเรื่องนี้ไม่ได้ล่าช้า  ส่วนกระบวนการสอบสวนไต่สวนในเรื่องนี้ จะเสร็จสิ้นภายในปี 2568 หรือไม่ เนื่องจากตามกฎหมาย ไม่มีกรอบเวลานั้น ขอให้ไปสอบถามต่อประธาน กกต. และเลขาธิการ กกต.  อย่างไรก็ตาม ตนขอย้ำว่าตอนนี้ กำลังเร่งดำเนินการสอบสวนอยู่

นั่นหมายความว่า กระบวนการ ตรวจสอบฮั้ว สว. ยังเดินหน้าต่อไป ไม่มีผลกระทบจากการที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ไม่ได้ดูแลดีเอสไอในช่วงนี้  คงต้อง รอดูบทสรุปตรวจสอบ จะเป็นอย่างไร  เพราะจากคำชี้แจงของ กกต. เดินหน้าไปเกิน 50% โดยทำด้วยความรอบ ป้องกันการถูกฟ้องกลับ

ส่วนความเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ความเคลื่อนไหวของ “พรรคกล้าธรรม” (กธ.) ภายใต้การนำของ “อ.แหม่ม” นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์  รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหัวหน้าพรรค โดยมี “ร.อ.ธรรมนัส  พรหมเผ่า” ทำหน้าที่ ประธานที่ปรึกษาพรรค  ซึ่งกำลังเป็นพรรคเนื้อหอม  หลังคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งนครศรีธรรมราช เขต 8  ซึ่งมีข่าวนักการเมืองไหลเข้าเป็นสมาชิกพรรคนับสิบคน  นอกจากนี้ น.ส.กฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ สส.ชลบุรี เขต 6 พรรคประชาชน (ปชน.) ยังประกาศเข้าร่วมงานกับพรรค กธ.  แม้ว่าพรรค ปชน. จะไม่ยอมขับออก  และที่สร้างความเซอร์ไพร้ส์ให้คอการเมืองคือ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีต สส.กรุงเทพมหานคร (กทม.) กับ นายการุณ โหสกุล อดีต สส.กทม. จะย้ายมาพรรค กธ. หลังลาออกจากสมาชิกพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ทั้งที่เป็นคนใกล้ชิด “คุณหญิงสุดารัตน์  เกยุราพันธ์ุ” หัวหน้าพรรค ทสท. 

มีรายงานว่า  ภายหลังจากที่ ร.อ.ธรรมนัส  ออกมาระบุจะมีการ นัดคุยกับ น.อ.อนุดิษฐ์ และ นายการุณ  หลังลาออกจากสมาชิกพรรค ทสท. พรรค กธ.ได้แจ้งกำหนดการแก่สื่อมวลชน ว่า ร.อ.ธรรมนัส และนางนฤมล  หัวหน้าพรรคกล้าธรรม จะนัดพบกับ น.อ.อนุดิษฐ์ และนายการุณ และ ร่วมทานข้าวกัน ในวันที่ 16 พ.ค.นี้  เวลา 18.30 น. ที่โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน เขตห้วยขวาง กทม.

ขณะที่ “น.ส.พรรณิการ์ วานิช” แกนนำคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี น.ส.กฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ สส.ชลบุรี พรรคประชาชน (ปชน.) ประสงค์จะย้ายไปร่วมงานกับพรรค กธ.  และพรรค กธ. ยังระบุด้วยว่าจะมี สส.ฝ่ายค้านย้ายเข้าไปร่วมกับพรรคอีกจำนวนมาก ว่า การพยายามจะเปิดตัว สส. ย้ายมาร่วมกับพรรคก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า เป็นเรื่องของการ ต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี  ดังนั้นเราไม่สามารถแยกเรื่องงูเห่ากับเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาลได้ เพียงแต่ราคาคุยที่บอกว่ามีจำนวน 20 คน หรือ 30 คน ตอนนี้ก็เห็นชัดแล้วว่ามี น.ส.กฤษฎิ์ แม้ จะออกไปแบบเต็มตัว 

ขณะนี้พรรค ปชน. เตรียมโหลไว้เยอะ ทราบข่าวมาว่าเขาอยากได้ถึงตำแหน่ง มท.1 ซึ่งอันนี้หวังสูงไปนิด  ส่วนการจะซื้องูเห่า ให้ได้ถึง 30-40 คน เพื่อมาแทนที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ว่าเป็นเรื่องที่เกินจริง แต่ที่พรรค กธ. บอกว่า จะได้ สส.ถึง 20 คน นั้น ก็ขอให้รอดูกันต่อว่าจะมาจากไหน ถ้าจะมาจากพรรคประชาชนถึงหลักสิบ ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้ไม่น่าเป็นไปได้ โดยสถิติก็บอกแล้วว่าหากคาดหวังการเลือกตั้งครั้งต่อไป งูเห่าไม่สามารถที่จะกลับมา ชนะการเลือกตั้งได้ เพราะประชาชนจะลงทัณฑ์อย่างถึงที่สุด

คงต้องรอดูว่า จะมี สส.หรือนักการเมืองจากพรรคไหน  ไหลเข้าเป็น สมาชิกพรรค กธ. อีก  และเป็นไปตามการคาดหมายของหลายคนหรือไม่ ที่มองว่า ความพยายามเพิ่มจำนวน สส. ของพรรค เกี่ยวข้องกับการต่อรองเก้าอี้ รมต. หรือไม่  รวมถึงเก้าอี้ มท.1 

ด้านความเคลื่อนไหวในการ ตรวจสอบชั้น 14 รพ.ตำรวจ ที่เกี่ยวข้องกับ “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รศ.นพ.ต่อพล วัฒนา ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา พร้อมด้วยทีมกฎหมายของแพทยสภา ได้เดินทางมานำส่งมติแพทยสภาให้ลงโทษแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษานายทักษิณ ที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ จำนวน 3 คน โดยตักเตือน 1 คน ในกรณีประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน และพักใช้ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม 2 คน ในกรณี ให้ข้อมูลและเอกสารทางการแพทย์ อันไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยยื่นให้กับ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษแพทยสภา โดยมีนายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรมว.สาธารณสุข เป็นผู้รับมอบ

ส่วน นายกองตรี ดร.ธนกฤต กล่าวว่า พร้อมส่งให้นายสมศักดิ์ สภานายกพิเศษพิจารณาเรื่องนี้ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 2568 เป็นต้นไป จากที่คุยกับทางนายสมศักดิ์ จะมีการตั้งคณะทำงาน ขึ้นมาเพื่อช่วยกันดูมติ รวมถึง เอกสารประกอบจากแพทยสภา หลัก 1 พันหน้า รวมถึงกรณีที่มีแพทย์ที่เข้าใจว่า ตนเองเป็นผู้ที่ถูกแพทยสภาสั่งลงโทษและมาร้องขอความเป็นธรรมเมื่อ 1-2 วันที่ผ่านมา คือ พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ อดีตนายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ปัจจุบันเป็น ผช.ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ถ้าครบ 15 วันตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ก็ต้องส่งให้แพทยสภาว่าจะยืนยันตามมติแพทยสภา หรือจะวีโต้ในประเด็นใด และหากไม่ส่งกลับภายใน 15 วันก็ ถือเป็นการยอมรับมติ

ขณะที่ รศ.นพ.ต่อพล กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจาก เลขาธิการแพทยสภา ให้นำมติของแพทยสภามาส่งถึงสภานายกพิเศษ และยืนยันทางแพทยสภาส่งมติดังกล่าว ให้กับสภานายกพิเศษ เท่านั้น ยังไม่ได้มีการส่งมติดังกล่าวให้กับแพทย์ที่ถูกตัดสินลงโทษแต่อย่างใด เพราะถือว่า กระบวนการยังไม่สิ้นสุด ดังนั้นการที่มีแพทย์ที่เข้าใจว่าตัวเองถูกตัดสินแล้วมาร้องเรียนนั้น ไม่ทราบว่าแพทย์เหล่านั้น ทราบ มติของแพทยสภา จากที่ใด

จากนั้น เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กองทัพธรรม นำโดย นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำ และนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี (ทภ.) พร้อมด้วยมวลชน  เดินทางมายื่นหนังสือเรียกร้องไม่ให้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข  แทรกแซงมติของแพทยสภา กรณีสั่งลงโทษแพทย์ที่อยู่ในกระบวนการส่งตัว และรักษานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ จำนวน 3 คน  โดยมี นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรมว.สาธารณสุข เป็นผู้รับมอบ โดยนายนายพิชิต กล่าวว่า มีข้อเรียกร้องประกอบด้วย  1.ไม่ต้องการให้ รมว.สาธารณสุข  ในฐานะสภานายกพิเศษแห่งแพทยสภาใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซง 2.หากรมว.สธ.จะใช้อำนาจสภานายกพิเศษ ก็ขอให้มีการลงโทษแพทย์ที่รักษานายทักษิณหนักกว่านี้

ด้าน “นพ.วรงค์” กล่าวว่า มีแพทย์หลายคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งแพทย์จาก รพ.ราชทัณฑ์ และรพ.ตำรวจ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ มายื่นเรื่องผ่าน นายกองตรี ดร.ธนกฤต ได้แจ้งกลับไปว่า รมว.สาธารณสุข ไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการตัดสินของแพทยสภา ส่วนแพทย์ หากว่าจะวีโต้ ต้องไปร้องศาลปกครองเอง เราในฐานะประชาชน คปท. และกองทัพธรรม จึงมาเพื่อยืนยันสิ่งที่ถูกต้อง ต่อให้แพทย์มีความผิด ไม่รักษาจรรยาบรรณ และพยายามแก้ตัวอย่างไร แต่ใน 2 ปีที่ผ่านมา มันปอกเปลือกการกระทำหมดแล้ว จากการป่วยของนายทักษิณ และนี่เป็นแค่การเริ่มต้น กระบวนการลงโทษ เท่านั้น  ใครจะจัดฉากร้องต่อรมว.สาธารณสุขอย่างไร เราไม่สนใจ เรากำลัง ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อรักษากระบวนการยุติธรรม  

ถือเป็นการวัดใจ รมว.สาธารณสุข จะยึดตามมติแพทยสภา หรือวีโต้  ที่เป็นคำถาม แพทย์ที่ถูกลงโทษ 2 ราย  ทำไมไม่ยื่นคำชี้แจงกับอนุกรรมการแพทยสภา ที่ทำการสอบสวน  แต่กลับเลือกมายื่นขอความเป็นธรรมกับ รมว.สาธารณสุข ที่มาจากฝ่ายการเมือง เพราะเป็น แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) 

“ทีมข่าวการเมือง”