นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2568 มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในพื้นที่บางส่วนใน 4 จังหวัด รวม 19 อำเภอ ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา อ.เมืองนครราชสีมา/อ.โนนสูง/อ.คง/อ.บัวใหญ่/อ.บัวลาย จ.ขอนแก่น อ.พล/อ.โนนศิลา/อ.บ้านไผ่/อ.บ้านแฮด/อ.เมืองขอนแก่นอ.น้ำพอง/อ.เขาสวนกวาง จ.อุดรธานี อ.โนนสะอาด/อ.กุมภวาปี/อ.ประจักษ์ศิลปาคม/อ.เมืองอุดรธานี/อ.เพ็ญ จ.หนองคาย อ.สระใคร/อ.เมืองหนองคาย
เพื่อดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ (เฟส) ที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กม. วงเงินลงทุน 341,351.42 ล้านบาท โดยจะเสนอกระทรวงคมนาคม พิจารณาภายในเดือน พ.ค. 2568 เพื่อเสนอ ครม. ต่อไป

นายวีริศ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการฯ เฟสที่ 2 มีพื้นที่เวนคืนฯ ที่ดินบางส่วนของ 4 จังหวัด รวม 19 อำเภอ ทั้งหมด 1,991 แปลง เนื้อที่ประมาณ 1,345 ไร่ และสิ่งปลูกสร้าง1,428 รายการ วงเงินรวม 12,418.61 ล้านบาท รฟท. ตั้งงบประมาณ 3 ปี (2569-2571) แบ่งเป็นปี 2569 ประมาณ 200 ล้านบาท, ปี 2570 ประมาณ 6 พันล้านบาท และปี 2571 ประมาณ 6 พันล้านบาท

โครงการฯ เฟส 2 ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้วเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2568 รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 2567 อยู่ระหว่างจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา คาดว่าจะเปิดประกวดราคาประมาณเดือน มิ.ย. 2568 ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดบริการปี 2574 โดยจะนำบทเรียนจากความล่าช้าของโครงการเฟสแรกมาแก้ไขปัญหาเพื่อเร่งรัดงานในเฟส 2

นายวีริศ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการฯ เฟส 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมาสัญญา 3-2 งานโยธาสำหรับงานอุโมงค์ (มวกเหล็กและลำตะคอง) ออกไปอีก 181 วัน โดยผู้รับจ้างเสนอขอขยาย 501 วัน เดิมสิ้นสุดสัญญาวันที่ 7 มิ.ย. 2568 ปรับเป็นสิ้นสุดสัญญาวันที่ 5 ธ.ค. 2568 รฟท. ไม่ได้เสียประโยชน์ และไม่มีผลกระทบโครงการอื่นๆ
สาเหตุที่ต้องขยายเวลา เนื่องจาก รฟท. ส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างล่าช้าจากการเวนคืนพื้นที่ กระทบงานก่อสร้าง 2 รายการ คือ งานก่อสร้างคันทางรถไฟระดับดิน ช่วง DK.134+765-DK.135+385 และงานก่อสร้างสะพานผาเสด็จ 3 ปัจจุบัน รฟท. ส่งมอบพื้นที่เวนคืนทั้งหมดให้กับผู้รับจ้าง 100% แล้ว พร้อมเร่งรัดให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่ปรับใหม่ เพื่อให้โครงการเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้การขยายเวลาฯ ไม่กระทบกับแผนงานก่อสร้างในภาพรวมที่จะเปิดบริการในปี 2572

นายวีริศ กล่าวด้วยว่า สัญญา 3-2 วงเงิน 4,279,309,390 ล้านบาท ระยะทาง 12.23 กม. ครอบคลุมงานก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งรถไฟ ระยะทาง 8 กม. คันทางรถไฟระดับดิน 3.27 กม. โครงสร้างทางรถไฟยกระดับ 0.96 กม. รวมถึงอาคารและสิ่งปลูกสร้าง รองรับงานระบบรถไฟฟ้า 4 แห่ง พร้อมถนนเชื่อมต่อ ซึ่งเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. 2564 ได้ผลงาน 90.94%

ทั้งนี้มีรายงานข่าวแจ้งว่า การประมูลในเฟส 2 จะแบ่งประมูลสัญญาให้น้อยลงประมาณ 7-8 สัญญา ต่างจากเฟสแรกที่ซอยก่อสร้าง 14 สัญญา