ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมศรีอู่ทองแกรนด์ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี นายพิริยะ ฉันทดิลก ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานการแถลงข่าวจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมสานสัมพันธ์ 11 ชาติพันธุ์ โดยมี ดร.อุดม โปร่งฟ้า นายก อบจ.สุพรรณบุรี ในฐานะ ประธานชมรม 11 กลุ่มชาติพันธุ์ จังหวัดสุพรรณบุรี น.ส.นิษฐกานต์ คุณวัชระกิจ วัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี นายการุณ สุทธิภูล ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี นายประภัสร์ คล้ายสุบรรณ ครูวิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี ที่ปรึกษาพิเศษของผู้รับจ้าง ในนามบริษัทโอเวอร์แคทมีเดีย จำกัด และตัวแทน11 กลุ่มชาติพันธุ์ร่วมแถลงข่าว


นายพิริยะ ฉันทดิลก ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า จังหวัดสุพรรณบุรี มีประชากรที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ถึง 11 ชาติพันธุ์ จึงได้กำหนดเป้าหมาย (Positioning)ในการพัฒนาจังหวัดสุพรรณบุรี ประการหนึ่ง คือ “จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นเมืองประวัติศาสตร์ และความหลากหลายทางชาติพันธุ์ (Historic City)” (จังหวัดสุพรรณบุรี กำหนดเป้าหมาย (Positioning)ในการพัฒนาจังหวัด จำนวน 5 ด้าน ได้แก่ 1.เมืองอาหารปลอดภัย (Food Safety) 2.เมืองประวัติศาสตร์ และความหลากหลายทางชาติพันธุ์ (Historic City) 3.เมืองสมุนไพร (Herbal City) 4.เมืองดนตรี (Music City) และ 5.เมืองกีฬา (Spot City)
โดยได้มอบหมายให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี และสภาวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมกันดำเนินการจัดงานมหกรรมวัฒนธรรม สานสัมพันธ์11 ชาติพันธุ์ จังหวัดสุพรรณบุรี ภายใต้โครงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี ประจำปี พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นการสร้างและพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูล และรากฐานทางวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น การส่งเสริมให้มีการสานสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม นำไปสู่การสืบสาน การต่อยอด การอนุรักษ์ และการนำทุนทางวัฒนธรรม มาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการพัฒนา ต่อยอดจังหวัดสุพรรณบุรีเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีขององค์การยูเนสโก โดยใช้ดนตรีชาติพันธุ์ ประกอบกับ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 จังหวัดสุพรรณบุรี ถือเป็นแห่งแรก และแห่งเดียว ของประเทศไทยได้รับเกียรติจากองค์กรยูเนสโกประกาศให้เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีขององค์การยูเนสโก ด้วยความโดดเด่นด้านดนตรี จังหวัดจึงมีการส่งเสริมพัฒนา ต่อยอด ขับเคลื่อนกิจกรรมด้านดนตรี ดังนั้น การจัดงานมหกรรมวัฒนธรรม สานสัมพันธ์ 11 ชาติพันธุ์ จึงเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสุพรรณบุรี โดยมุ่งเน้นอัตลักษณ์ วิถีชีวิตความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทั้ง 11ชาติพันธุ์ ในสุพรรณบุรีและการใช้คลื่นต้นทุนความโดดเด่นด้านดนตรี ทั้ง 5 สายธาร ที่ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีจากองค์กรยูเนสโก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยใช้ดนตรีชาติพันธุ์ โดยกำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 24-25 พฤษภาคม 2568 ที่วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร


ด้าน ดร.อุดม โปร่งฟ้า นายก อบจ.สุพรรณบุรี ประธานชมรม 11 กลุ่มชาติพันธุ์ จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่าจังหวัดสุพรรณบุรี มีประชากรที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ถึง 11 ชาติพันธุ์ ประกอบด้วย 1.กลุ่มชาติพันธุ์ไทยพื้นถิ่น2.กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายจีน 3. กลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวน 4.กลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำ 5.กลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง 6.กลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง 7.กลุ่มชาติพันธุ์มอญ 8. กลุ่มชาติพันธุ์ไทย- เขมร 9.กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง 10.กลุ่มชาติพันธุ์ละว้า 11.กลุ่มชาติพันธุ์ญวน ซึ่งยกระจายกันอยู่อาศัยในพื้นที่10 อำเภอ110 ตำบล 1,008 หมู่บ้าน


ดร.อุดม กล่าวต่อว่า นับเป็นความโชคดีของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้ง 11 ชาติพันธุ์ ที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ได้เล็งเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในจังหวัดสุพรรณบุรี โดยได้มอบหมายให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรีร่วมกับสภาวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี ทำโครงการจัดตั้งชมรม กลุ่มชาติพันธุ์ ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งในระดับตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัดแล้วให้รวมกันจัดตั้งเป็นชมรม 11 กลุ่มชาติพันธุ์ จังหวัดสุพรรณบุรี ในฐานะที่เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมที่จะสนับสนุนสรรพกำลังขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อช่วยเหลือกิจกรรมของจังหวัดสุพรรณบุรี ทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะงานของชมรมกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้ง 11กลุ่มชาติพันธุ์ ในจังหวัดสุพรรณบุรี