นายยิ่งยศ ลีชัยอนันต์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ เฟซบุ๊ก ประเทศไทย เปิดเผยว่า เมตา ให้ความสำคัญสูงสุดกับความปลอดภัยและความมั่นคงของชุมชน โดยมุ่งมั่นที่จะจัดการกับปัญหาการหลอกลวงที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปได้ตลอดเวลาในทุกแพลตฟอร์มของเมตา ซึ่งได้การลงทุน เพื่อยกระดับเทคโนโลยี ความร่วมมือ และการบังคับใช้กฎหมายเชิงรุกมุ่งหวังที่จะสร้างสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน นอกจากนี้ยังได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องผู้ใช้และสร้างความไว้วางใจให้กับแพลตฟอร์ม
“เมตา ได้ลงทุนพัฒนาเอไอ และส่งเสริมความสามารถของทีมงานในการตรวจจับและจัดการเนื้อหาสแปมที่มีเป้าหมายฉ้อโกงทางการเงิน บัญชีปลอม และการหลอกลวงได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยได้สกัดกั้นความพยายามในการสร้างบัญชีปลอมรวมไปถึงตรวจจับและนำบัญชีปลอมลงได้กว่าหลายล้านบัญชีในแต่ละวัน ภายในไม่กี่นาทีหลังจากมิจฉาชีพสร้างบัญชีเหล่านั้นขึ้น ในไตรมาสที่ 4 ปี 67 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการกับบัญชีปลอมถึง 1,400 ล้านบัญชี โดย 99.9% ถูกลบก่อนจะมีการรายงานเข้ามา ระบบอัตโนมัติทำงานตลอดเวลาเพื่อตรวจจับและลบบัญชีปลอม สแปม และโพสต์หลอกลวงในปีที่ผ่านมา และได้ลบบัญชีกว่า 408,000 บัญชีที่เชื่อมโยงกับการหลอกให้หลงรัก หรือ โรแมนซ์ สแกมรวมถึงลบเพจและบัญชีที่มีส่วนร่วมในการฉ้อโกงกว่า 116,000 รายการ”

นายยิ่งยศ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้เมตาได้นำข้อกำหนดใหม่มาใช้ โดยให้ผู้ลงโฆษณารายใหม่ ต้องยืนยันหมายเลขโทรศัพท์ที่เชื่อมกับบัญชีโฆษณาก่อนที่จะมีการเผยแพร่โฆษณาใด ๆ เพื่อปกป้องชุมชนจากการหลอกลวงที่อาจเกิดขึ้น ผู้โฆษณาใหม่ในกรณีนี้หมายถึงผู้ที่ยังไม่มีบัญชีโฆษณา เป็นบัญชีที่มีอายุน้อยกว่า 90 วันและไม่มีการใช้งบประมาณการลงโฆษณา และไม่ได้เชื่อมโยงกับบัญชีธุรกิจที่ได้รับการจัดการหรือยืนยันก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ยังใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงการจดจำใบหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้หลอกลวงใช้ภาพของบุคคลสาธารณะในโฆษณา ช่วยให้ผู้ใช้สามารถกู้คืนบัญชีที่ถูกแฮก ไปจนถึงตรวจจับและลบบัญชีปลอมได้
สำหรับในส่วนภาคธุรกิจได้พัฒนาเครื่องมือการรายงานบัญชีที่อาจมีความน่าสงสัยเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการฉ้อโกงและการหลอกลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งการปลอมแปลงตัวตนและการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เครื่องมือเหล่านี้รวมไปถึง แบรนด์ ไรท์ โพรเทคชั่น เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถค้นหาและตรวจสอบเนื้อหาที่อาจละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้อย่างรวดเร็วและไม่ให้มีการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ในทางที่ละเมิดได้
นอกจากนี้ เมตา ได้ร่วมดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรในประเทศไทยเพื่อแบ่งปันทั้งความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยี และร่วมกันต่อต้านผู้หลอกลวง สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของ เมตา ในการร่วมสร้างระบบนิเวศทางดิจิทัลของประเทศไทยให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น
โดยในปี 68 ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย (ก.ล.ต.) เพื่อจัดการฝึกอบรมร่วมเกี่ยวกับเครื่องมือปกป้องสิทธิแบรนด์ของ Meta เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงหน่วยงานในตลาดทุนและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างการปกป้องธุรกิจและทรัพย์สินแบรนด์เพื่อปกป้องแบรนด์จากการแอบอ้างโดยมิจฉาชีพ
พร้อมกันนี้ยังมีความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ในการจัดโรดโชว์เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยออนไลน์และการต่อสู้กับภัยลวงโดยมีการจัดกิจกรรมในกว่า 32 จังหวัดทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 นอกจากนี้ Meta ยังได้เปิดตัวแคมเปญต่อต้านการหลอกลวง ‘Legit or Leg It’ ใน 7 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยร่วมมือกับพันธมิตรในประเทศ รวมถึงกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และ ETDA ในประเทศไทย แคมเปญนี้ประกอบด้วยสื่อออนไลน์ที่จัดทำร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในประเทศไทย และครีเอเตอร์ชาวไทยเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับการหลอกลวงออนไลน์ทั่วไป รวมถึงวิธีการตรวจจับมิจฉาชีพออนไลน์ แคมเปญนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยมีการเข้าถึง (Reach) ทั้งหมด 224 ล้านครั้งทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยครีเอเตอร์ชาวไทยมีส่วนสร้างการเข้าถึงในแคมเปญนี้กว่า 18.3 ล้านครั้งด้วย