KKP Research ปรับ GDP ลงเหลือ 1.7% ในปี 2568 ซึ่งลดลงจากประมาณการก่อนหน้าที่ 2.3% ส่วนหนึ่งสะท้อนผลจากนโยบายการค้าสหรัฐ ต่อการส่งออก การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลกซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจบริโภคและลงทุน

เมื่อย้อนภาพกลับไปไกลกว่านั้น นักวิเคราะห์คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยสูงเกินไปมาตลอด ซึ่งสะท้อนสองเรื่องสำคัญ คือ 1) เศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงไม่ได้เกิดจากปัจจัยชั่วคราว แต่เป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ไม่ฟื้นขึ้นมาเองเมื่อเวลาผ่านไป 2) ความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดกระทบเศรษฐกิจระหว่างปี และเศรษฐกิจโตได้ต่ำกว่าที่คาด KKP Research ต้องการชี้ให้เห็นว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในความจริงแล้วสาเหตุหลักไม่ได้เกิดจากนโยบายภาษีของ Trump เพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมาอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2568 สามเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยทั้งภาคการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกำลังมีแนวโน้มชะลอตัวลงพร้อมๆ กัน คือ

1.แรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวกำลังจะหายไปในปีนี้ โดยในช่วงที่ผ่านมาข้อมูลสะท้อนว่าแนวโน้มการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวกำลังชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่กลับมาและนิยมไปเที่ยวประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น แทนการมาท่องเที่ยวไทย ส่งผลให้การท่องเที่ยวที่เคยเป็นแรงส่งหลักทั้งหมดของเศรษฐกิจ (ประมาน 2-3ppt) ในช่วงปี 2565-2567 จะเริ่มไม่ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยมากนักในปีนี้ โดย KKP ประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวที่ 36.2 ล้านคน เทียบกับปีก่อนที่ 35.6 ล้านคน หรือโตขึ้นเพียง 6 แสนคนเท่านั้น และมีความเสี่ยงจะลดลงได้

2.ภาคอุตสาหกรรมเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่อยู่ในทิศทางติดลบมาโดยตลอดอยู่แล้วโดยหดตัวมาตั้งแต่ปลายปี 2565 โดยนักวิเคราะห์หวังว่าจะฟื้นตัวขึ้นได้บ้างในปีนี้ แต่การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ จะเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมที่ทำให้เห็นการฟื้นตัวได้ยากซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐ เป็นหลัก

3.ภาคเกษตรมีแนวโน้มชะลอตัว สะท้อนจากข้อมูลการส่งออกภาคเกษตรที่หดตัวลงแรงโดยเฉพาะข้าว หลังอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวได้ในปีนี้ โดยการส่งออกข้าวขาวติดลบเกือบ 30% ในช่วงไตรมาสแรก รายได้ที่ชะลอตัวลงในภาคเกษตรจะส่งผลต่อเนื่องให้การบริโภคในประเทศชะลอลง

3 ภาคเศรษฐกิจที่ชะลอลงพร้อมกัน เป็นความเสี่ยงสำคัญที่เราอาจเห็นเศรษฐกิจไทยในปี 2568 โตได้ต่ำลงเรื่อยๆ และสะท้อนว่าการชะตัวของเศรษฐกิจไทยไม่ได้เกิดจากนโยบายภาษีเป็นเรื่องสำคัญเรื่องเดียว

ภายใต้สถานการณ์นี้ผลกระทบจากภาษีต่อไทยจะเกิดขึ้นผ่าน 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ ผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกไปยังสหรัฐ การให้ข้อแลกเปลี่ยนทางการค้าโดยเปิดตลาดของสินค้าบางกลุ่มให้กับสหรัฐ และผลกระทบทางอ้อมจากภาวะการค้าโลกและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงต่อการส่งออกไทย

1) ผลกระทบทางตรงต่อการส่งออกไปสหรัฐ ในกรณีที่มีการขึ้นภาษี 10% ต่อสินค้าส่งออกจากไทยไปยังสหรัฐ KKP Research ประเมินว่า GDP ไทยอาจได้รับผลกระทบติดลบประมาณ 0.15 เปอร์เซ็นต์

2) การให้ข้อแลกเปลี่ยนในระหว่างการเจรจาอาจกระทบเศรษฐกิจบางภาคส่วน หากสหรัฐเรียกร้องให้ไทยเปิดตลาดในภาคเกษตรมากขึ้น โดยเฉพาะหมู เนื้อวัว และนม จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดย GDP ภาคเกษตรมีสัดส่วน 8-9% และหมู-ไก่ 1.3% แต่ภาคเกษตรยังคงมีบทบาทในการจ้างงานในชนบทอย่างกว้างขวางโดยคิดเป็นกว่า 31% ของการจ้างงานทั้งหมด

3) ผลกระทบทางอ้อมจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว KKP Research ประเมินว่าในอดีต ทุกๆ การลดลงของ GDP โลก 1% จะส่งผลให้ GDP ไทยลดลงประมาณ 0.6%

ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยจากประเด็นสงครามการค้าในปี 2568 ยังคงเอียงไปทางด้านลบ หากการเจรจาล้มเหลวและสหรัฐ กลับมาเรียกเก็บภาษีที่อัตรา 36% หลังครบกำหนดผ่อนผัน 90 วัน ขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวต่อเนื่อง KKP Research ประเมินว่า GDP ไทยในปี 2568 อาจลดลงต่ำสุดเหลือเพียง 0.9%

KKP ประเมินภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคตจากข้อมูลเศรษฐกิจในฝั่งอุปทานว่าค่อนข้างยากที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยกลับไปเติบโตที่ 3% แม้จะไม่มีมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐ ก็ตาม เพื่อที่จะรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจให้ใกล้เคียง 3% สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น คือ

ในกรณีแรก ภาคการท่องเที่ยวจะต้องขยายตัวมากถึงปีละประมาน 7-10 ล้านคน เหมือนช่วงที่จีนเข้ามาท่องเที่ยวไทยใหม่ๆ หรือจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังไทยต้องขยายตัวไปถึงประมาน 70 ล้านคนในปี 2573 เพื่อชดเชยกับภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลง

ในกรณีสอง ภาคการผลิตไทยต้องกลับไปเติบโตเฉลี่ยปีละประมาน 5% เหมือนในช่วงปี 2543 ก่อนที่การท่องเที่ยวจะขยายตัวก้าวกระโดด ซึ่งเป็นไปได้ยากเมื่อพิจารณาการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในช่วงหลังโควิดที่โตได้เฉลี่ยเพียง -0.59% ต่อปี

ในกรณีสุดท้าย การใช้ภาคเกษตรเป็นตัวนำทางเศรษฐกิจ ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เพราะมีขนาดที่เล็กเกินไปเพียงประมาน 8% ของ GDP นอกจากนี้ในปัจจุบันการส่งออกในภาคเกษตรที่เติบโตติดลบในปี 2568 เนื่องจากข้าวไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับข้าวอินเดียได้