ถาม : การเจรจาด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนและสหรัฐเมื่อเร็ว ๆ นี้ประสบความคืบหน้าไปในทางบวก ประเทศไทยสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากเรื่องนี้ เพื่อรับมือกับนโยบายภาษีศุลกากรของสหรัฐ ?


ตอบ : จีนและสหรัฐบรรลุฉันทามติที่สำคัญ ในการเจรจาด้านเศรษฐกิจและการค้า ต่อไปนี้ทั้งสองฝ่ายจะยังคงแก้ไขความขัดแย้งระหว่างกันโดยการปรึกษาหารืออย่างเท่าเทียมกัน ผมขอเสนอให้เพื่อน ๆ ชาวไทยให้ความสำคัญสามประเด็น ต่อไปนี้


ประการแรก เมื่อเผชิญหน้ากับการกลั่นแกล้งเรื่องภาษีศุลกากรของสหรัฐ จีนยืนหยัดอยู่แถวหน้าอย่างกล้าหาญและตอบโต้การกระทำของสหรัฐฯ อย่างเด็ดขาด ประการที่สอง สหรัฐปรับเปลี่ยนทัศนคติและแนวทางปฏิบัติ ประการที่สาม ภาษีศุลกากรบางส่วนที่สหรัฐ กำหนดกับจีนหลังวันที่ 2 เมษายน ยังคงอยู่ เมื่อรวมกับภาษีศุลกากรที่บังคับใช้ก่อนหน้านี้ ภาระภาษียังคงเป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ และเศรษฐกิจโลก


โดยสรุป นโยบายภาษีศุลกากรที่สูงของรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับการโจมตีจากทุกด้านและไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกควรเสริมสร้างความเชื่อมั่นและต่อต้านอย่างเด็ดขาด ในที่สุดความยุติธรรมต้องชนะ


ถาม : เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะกดดันประเทศอื่น ในการเจรจาภาษีศุลกากร และขอให้จำกัดการค้ากับจีนนั้น จีนระบุว่าจีนคัดค้านอย่างหนักแน่นต่อฝ่ายใด ๆ ที่บรรลุข้อตกลงโดยเสียสละผลประโยชน์ของจีน หากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น จีนจะมีมาตรการรับมืออย่างไร ?


ตอบ : จีนเชื่อว่าแต่ละประเทศมีเงื่อนไขของชาติที่แตกต่างกัน เมื่อเผชิญกับความท้าทายที่รุนแรงในปัจจุบัน เราต้องรักษาจุดยืนร่วมกันและมีผลประโยชน์ร่วมกันที่ต้องปกป้อง ขณะเดียวกัน เรายังเข้าใจว่าประเทศต่าง ๆ ก็ได้ดำเนินมาตรการตอบสนองผลประโยชน์ของตนเอง โดยพิจารณาจากเงื่อนไขที่แท้จริงของตนเองด้วย เนื่องจากเป็นประเทศหลัก จีนจึงมีความรับผิดชอบในการรักษาการพัฒนาเศรษฐกิจโลกให้แข็งแรงและมั่นคง


พูดตรง ๆ ก็คือ หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐประกาศใช้มาตรการ “ภาษีศุลกากรตอบโต้” รัฐบาลสหรัฐยังได้กำหนดช่วงเวลาพิจารณา 90 วันด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งมาจาก มาตรการตอบโต้ที่เด็ดขาดของจีน ผู้นำจีนเคยบอกผู้นำไทยว่าจีนยินดีที่จะเป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้และไว้ใจได้ของไทยอยู่เสมอ เราพูดอย่างนี้และเราทำอย่างนี้ นี่คือสิ่งที่จีนทำระหว่างวิกฤติการณ์ทางการเงินในเอเชีย เมื่อปี 2540 และจะทำแบบเดียวกันเพื่อตอบสนองต่อนโยบายภาษีศุลกากรของสหรัฐ ในปี 2568


จีนยืนหยัดอย่างกล้าหาญอยู่แนวหน้าในการต่อต้านการกลั่นแกล้งทางภาษีศุลกากรของสหรัฐ ไม่เพียงเพื่อผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผลประโยชน์ของส่วนอื่น ๆ ของโลกด้วย เรายังเชื่อว่าเพื่อนของเราจะไม่แทงเราจากด้านหลัง เราเชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยมีเจตนารมณ์อันแน่วแน่และภูมิปัญญาเพียงพอ ที่จะรับมือกับปัญหาซับซ้อนที่เกี่ยวข้องได้อย่างเหมาะสม


ถาม: โปรดแนะนำผลเชิงบวกที่เกิดจากความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างจีนกับไทย ซึ่งนำมาสู่ประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ไหม


ตอบ : ความร่วมมือเชิงปฏิบัติระหว่างจีนและไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และรักษาโมเมนตัมการพัฒนาที่ดีไว้ได้ ทั้งนี้เกิดจากนโยบายที่มีประสิทธิผลของทั้งสองรัฐบาล และไม่อาจแยกจากการมีส่วนร่วมเชิงบวกของสังคมทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจ


ความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศนั้นมีหลายมิติ และผลลัพธ์ของความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียวมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ ประเทศไทยเป็นประเทศอาเซียนประเทศแรกที่นำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนในประเทศไทยมีความก้าวหน้าในเชิงบวกในด้านต่าง ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์


บริษัทจีน เช่น Huawei มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและมีส่วนสนับสนุนอย่างสำคัญในเรื่องนี้ ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสีเขียว ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจีนได้มาลงทุนและเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในประเทศไทยแล้ วและกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างความสัมพันธ์ความร่วมมือที่ดีกับซัพพลายเออร์ชิ้นส่วน


บริษัทผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ของจีนกำลังลงทุนอย่างแข็งขันในประเทศไทยเพื่อช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ของไทย นอกจากนี้ จีนยังมีความก้าวหน้าเชิงบวก ในสาขาปฏิกิริยาฟิวชันนิวเคลียร์แบบควบคุมอีกด้วย ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จีนได้มอบอุปกรณ์วิจัยทางวิทยาศาสตร์ฟิวชันนิวเคลียร์แบบควบคุม “โทคาแมก” ให้แก่ไทย ทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้เป็นเจ้าของอุปกรณ์วิจัยทางวิทยาศาสตร์นี้


ในปี 2567 ประเทศจีนได้มีกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียนใหม่ที่เป็นครึ่งหนึ่งของโลก และครึ่งหนึ่งของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมใหม่ของโลกได้อยู่ที่ประเทศจีน ความร่วมมือระหว่างจีนและไทยในอุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นอนาคตยังมีโอกาสอีกมาก


ความร่วมมือครั้งนี้ซึ่งเป็นกำลังหลักความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างจีนกับไทย จะส่งเสริมการพัฒนาของไทยได้อย่างมีประสิทธิผลและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทยเป็นอย่างมาก ในช่วงอันใกล้นี้ มีรายงานเชิงลบเกี่ยวกับทุนและสินค้าจีนเป็นจำนวนไม่น้อย ผมเชื่อว่าสำหรับปัญหาที่มีอยู่ การกำกับดูแลควรได้รับการเสริมสร้างให้เข้มแข็ง ตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ


ขณะเดียวกัน เราควรตระหนักว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่กระแสหลักของความร่วมมือระหว่างจีนกับไทย ซึ่งมีความเข้มแข็งและเกิดประโยชน์ร่วมกัน เราควรเสริมสร้างความเชื่อมั่นของเรา ขยายความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างสองประเทศอย่างต่อเนื่อง และรักษาสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับความร่วมมือ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างสองประเทศอย่างมีสติ


ถาม : หากการเจรจาด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ที่เจนีวาไม่สามารถบรรลุฉันทามติตามที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จีนจะทำอย่างไร ?


ตอบ : ท่านได้ตั้งคำถามเชิงสมมติฐานแต่ก็เป็นคำถามเชิงปฏิบัติเช่นกัน จีนเชื่อเสมอมาว่าไม่มีผู้ชนะในสงครามภาษีและสงครามการค้า หากสหรัฐริเริ่มสงครามการค้า ประเทศต่าง ๆ ทั้งหมดจะได้รับผลกระทบ รวมถึงสหรัฐ เองด้วย ในความเป็นจริงความเจ็บปวดที่ต้องทนทุกข์ของสหรัฐ อาจยิ่งใหญ่มากขึ้นตามกาลเวลาที่ผ่านไป เราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าสงครามการค้าที่ริเริ่มโดยสหรัฐ จะอยู่ไม่ได้นาน


ดังนั้น หากสามารถบรรลุ “การลงจอดอย่างนุ่มนวล” หรือ ( soft-landing ) ผ่านการเจรจาได้ ก็จะถือเป็นผลลัพธ์ที่ดี หากไม่สามารถ “ลงจอดอย่างนุ่มนวล” ได้ ก็คงไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่อะไร เราจะต้องทนทุกข์ทรมานกับช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวดที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

แต่ผลกระทบตอบโต้จากสงครามการค้าที่ริเริ่มโดยสหรัฐ จะสร้างอันตรายให้กับสหรัฐ มากขึ้น ผมเป็นคนมองโลกในแง่ดีและเชื่อว่าโลกยังคงหมุนไปข้างหน้าเสมอ และสิ่งผิดพลาดใดก็ตามจะไม่คงอยู่ยาวนาน แน่นอนว่าเราต้องสามัคคีกันมากขึ้น ช่วยเหลือกันและกัน และเอาชนะความยากลำบากไปด้วยกัน จีนกำลังดำเนินการขยายตลาดเปิดกว้างไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งไทย และให้ความสะดวกสบายมากขึ้นสำหรับสินค้าจากประเทศต่าง ๆ เพื่อเข้าสู่ตลาดจีน นี้เป็นการดำเนินการโดยคำนึงถึงสถานการณ์ปัจจุบัน


ถาม : ประเทศสมาชิกอาเซียนยังได้รับผลกระทบเชิงลบต่อกัน เนื่องจากการใช้นโยบายรับมือกับภาษีศุลกากรของสหรัฐ ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้

ตอบ : ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักถูกเรียกเก็บ “ภาษีศุลกากรตอบโต้” ในอัตราสูงจากสหรัฐ และแต่ละประเทศก็มีสถานการณ์ของตนเอง ขณะที่ประเทศต่าง ๆ กำลังนำมาตรการตอบโต้ต่อนโยบายภาษีศุลกากรของสหรัฐ ตามสถานการณ์ของตนเอง ประเทศต่าง ๆ ควรเสริมสร้างการสื่อสารและการประสานงานระหว่างกัน เราได้ทราบแล้วว่าก่อนหน้านี้อาเซียนเคยจัดการ

ประชุมฉุกเฉินของรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันแล้ว ในอนาคตอาเซียนยังอาจมีการประชุมระดับรัฐมนตรีหรือระดับผู้นำอีกด้วย


เราเชื่อว่าอาเซียนจะเสริมสร้างการสื่อสารและการประสานงานภายในอีก ผมเชื่อว่าในช่วงเวลาพิเศษนี้ อาเซียนในฐานะองค์กรที่ประกอบด้วยเศรษฐกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 10 ประเทศในภูมิภาค สามารถสร้างเวทีสำหรับการสื่อสารและการประสานงานระหว่างประเทศสมาชิก และเป็นกำแพงป้องกันประเทศสมาชิกจากคลื่นลมและฝนได้ ชาวตะวันออกทุกคนเชื่อว่าความแข็งแกร่งร่วมกันเป็นสิ่งที่ทรงพลัง เมื่อเกิดพายุ เราต้องสามัคคีกันเพื่อความอยู่รอด


ถาม : จีนจะขยายตลาดให้กับสินค้าส่งออกของประเทศขนาดเล็กและขนาดกลางเช่นไทย เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้าหรือไม่ ?


ตอบ: นี่เป็นนโยบายและการกระทำที่จีนกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน จีนเน้นย้ำเสมอมาถึงความเต็มใจที่จะแบ่งปันโอกาสการพัฒนาของจีนให้กับประเทศอื่น และปรับปรุงระบบเศรษฐกิจที่เปิดสู่ภายนอกระดับสูงอย่างจริงจัง ระดับภาษีศุลกากรของจีนถือเป็นระดับต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และใกล้เคียงกับระดับภาษีศุลกากรเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้ว

งานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติจีนหรือ China International Import Expo กลายเป็นเวทีสำคัญสำหรับผลิตภัณฑ์จากทั่วโลกที่จะเข้าสู่ตลาดจีน และจัดขึ้นที่เซี่ยงไฮ้ทุกปี มณฑลไหหลำของจีนจะสร้างเกาะทั้งเกาะ ให้เป็นเกาะการค้าเสรีภายในปีนี้ คาดว่าจะมีการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียน 3.0 ภายในปีนี้ ประเทศจีนมีคนรายได้ปานกลาง 500 ล้านคน และตลาดผู้บริโภคมีมูลค่าเกือบ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เรายินดีต้อนรับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งไทย ให้เข้าสู่ตลาดจีนมากขึ้น.

ขอขอบคุณ : สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย