จากกรณีเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 68 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงนามคำสั่งที่ 157/2568-158/2568 ลงวันที่ 15 พ.ค. 68 ย้ายข้าราชการ 3 ราย ปรากฏรายชื่อสำคัญ “นายพัชร์ภารุจ สุคนธร” ผอ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฉะเชิงเทรา ไปเป็น ผอ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลก ส่วน ผอ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลก ไปเป็น ผอ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำพูน และให้ ผอ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำพูน ไปเป็น ผอ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฉะเชิงเทรา แทนนายพัชร์ภารุจ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนายพัชร์ภารุจ คือ บุคคลที่ตรวจสอบพบความผิดปกติการขอใช้ที่ดินรัฐ โดยพบว่าที่ดินกรมป่าไม้ที่เอกชนขอใช้ประโยชน์ มีการเปลี่ยนมือไปสู่บริษัทกลุ่มคนไทยและคนจีน และเข้ามาทำสวนทุเรียนในพื้นที่เขตป่า และเมื่อตรวจสอบภายหลังพบว่าเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ รวมถึงนายทุนคนไทยและคนจีน กลับมีชื่อปรากฏครอบครองที่ คทช. มีการใช้ชื่อบุคคลจาก จ.จันทบุรี และ จ.ตราด มาแอบอ้างในการถือครอง ซึ่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบแล้วไม่พบว่าคนที่มีชื่อถือครองที่ดังกล่าวเข้ามาทำประโยชน์จริง ทำให้นายพัชร์ภารุจ ทำหนังสือรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อขอให้ยกเลิกที่ คทช. ดังกล่าว เพราะใช้ผิดวัตถุประสงค์ จากนั้นนายพัชร์ภารุจ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบ อายัด และจับกุมผู้ที่เข้ามาครอบครองที่ป่าสงวนแห่งชาติ และที่ คทช. รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดกับที่ดินแปลงดังกล่าวมากกว่า 600 ไร่ ก่อนหน้ามีคำสั่งย้าย ต่อมามีรายงานว่า 1 ในหน่วยงานที่เข้าไปเกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบ คือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น
ตะลึง! ย้ายฟ้าผ่า ทสจ.ฉะเชิงเทรา หลังแฉนายทุนยึดป่าสงวนฯ ปลูกทุเรียน 700 ไร่
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวนี้ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้อนุมัติให้รับเป็นเรื่องสืบสวนที่ 51/2568 และออกเลขสืบสวน เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 68 เนื่องจากเป็นกรณีที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ร้องเรียนต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษว่า ตรวจสอบพบการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าและการครอบครองป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบมและป่าสียัด โดยไม่ได้รับอนุญาต ในท้องที่ ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา พบการปลูกทุเรียน จึงได้ร่วมกันตรวจยึดพื้นที่ที่ถูกบุกรุกดังกล่าว เนื้อที่รวมทั้งสิ้น 345-1-10 ไร่ ตามสำเนาบันทึกการตรวจยึดดำเนินคดี ฉบับลงวันที่ 20 ก.พ. 68 และฉบับลงวันที่ 3 มี.ค. 68 จึงขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด



โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ชี้แจงอีกว่า สำหรับความผิดที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรับทำการสืบสวน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 และมาตรา 31 และตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54 และมาตรา 72 ตรี ต่อมา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้มีหนังสือส่งเรื่องการตรวจยึดพื้นที่เพิ่มเติม (ครั้งที่ 3) เนื้อที่กว่า 300 ไร่ มาให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการเพิ่มเติม ทำให้กองบริหารคดีพิเศษจึงได้ประมวลเรื่องเสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษให้สั่งการรวมทำสืบสวนกับเรื่องสืบสวนที่ 51/2568

โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ชี้แจงต่อว่า กรณีดังกล่าว ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฉะเชิงเทรา ยังได้มีการร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สภ.ท่าตะเกียบ ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดไว้แล้ว ในความผิดฐาน ยึดถือ ครอบครอง เข้าทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติ จากการตรวจยึดพื้นที่ 3 ครั้ง รวมเนื้อที่กว่า 600 ไร่ สถานที่เกิดเหตุแปลงปลูกทุเรียนมูซังคิง หมู่ที่ 14 และหมู่ที่ 20 ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา คดีอาญาที่ 59/2568 ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวนของ สภ.ท่าตะเกียบ ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้มีหนังสือไปยังทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อขอข้อมูลเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และมีหนังสือขอข้อมูลนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับนิติบุคคลดังกล่าว รวมจำนวน 5 ราย จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูลนิติบุคคลว่ามีลักษณะดำเนินการกิจการในรูปแบบใด


โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุด้วยว่า ระหว่างการรับเป็นเรื่องสืบสวนนั้น ก็ได้มีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอภาค 2 (ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษ เขตพื้นที่ 2) ลงพื้นที่จุดเกิดเหตุร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน อย่างไรก็ตาม นอกจาก พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ ดีเอสไอเล็งเห็นถึงกฎหมายที่อาจเกี่ยวข้องใช้พิจารณาสืบสวนด้วย คือ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หรือนอมินี ทั้งนี้ หากเป็นความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ อาจเป็นกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบดำเนินการ ส่วนความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.นอมินีฯ อาจเป็นกองคดีความมั่นคงรับผิดชอบดำเนินการ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่จะมีคำสั่งต่อไป.