เมื่อวันที่ 19 พ.ค. น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุขฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ตามที่นายวีระพันธ์ สุวรรณนามัย สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก เตือนนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธาณสุข ให้เคารพกระบวนการของแพทยสภาและรักษาเส้นแบ่งระหว่างอำนาจทางการเมืองกับความเป็นอิสระของวิชาชีพแพทย์ กรณีมติแพทยสภาลงโทษแพทย์ 3 คน ปมชั้น 14 รพ.ตำรวจ เรื่องนี้ รมว.สาธารณสุข ไม่ได้หวั่นไหวหรือวิตกกังวลใดๆ เพียงแต่แปลกใจว่า นายวีระพันธ์กลัวอะไรนักหนา หรือมีมิจฉาทิฐิอะไรบางอย่างตกค้างอยู่ในจิตใจเหมือนคนกลุ่มหนึ่ง ที่เกือบ 20 ปี ยังไม่เลิกโกรธเกลียดอาฆาตแค้นนายทักษิณ ชินวัตร หรือไม่

น.ส.ตรีชฎา กล่าวอีกว่า หลังจากนายสมศักดิ์ ได้รับทราบมติแพทยสภาให้ลงโทษ 3 แพทย์ 1 คนโดนตักเตือน อีก 2 คนโดนพักใบอนุญาตวิชาชีพเวชกรรม ก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเสนอความเห็นสภานายกพิเศษเพื่อพิจารณาตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 จำนวน 10 คน มีอำนาจหน้าที่เสนอความเห็นต่อ รมว.สาธารณสุข หากคณะกรรมการจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายก็ให้กระทำได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการทั้ง 10 คน นายสมศักดิ์ ได้พิจารณาคัดเลือกมา ล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และมีเกียรติประวัติที่เชื่อถือได้ จึงมั่นใจว่าความเห็นที่คณะกรรมการชุดนี้จะเสนอมา ได้ผ่านการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน รอบคอบ มีข้อเท็จจริงและสภาพแวดล้อมประกอบว่าการกระทำของ 3 แพทย์ ผิดจริยธรรมหรือไม่ กระบวนการสอบข้อเท็จจริงและบทลงโทษมีความเหมาะสมหรือไม่ เพียงใด จากนั้นนายสมศักดิ์ จะพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเป็นธรรมที่สุด

น.ส.ตรีชฎา กล่าวว่า นายวีระพันธ์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา น่าจะรู้เรื่องกฎหมายดีว่า พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 25 ซึ่งบัญญัติว่า รมว.สาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษของแพทยสภา มีเวลา 15 วัน ในการพิจารณามติของแพทยสภา ซึ่งมี 2 แนวทาง 1.เห็นชอบกับมติแพทยสภา 2.ยับยั้งหรือวีโต้มติแพทยสภา โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งเหตุผล หากพ้น 15 วัน รมว.สาธารณสุข ไม่ดำเนินการใดๆ มติของแพทยสภาจะมีผลบังคับใช้โดยอัตโนมัติ แต่ถ้า รมว.สาธารณสุข ใช้สิทธิวีโต้ แพทยสภาจะต้องพิจารณาใหม่ หากยืนยันมติเดิม จะต้องได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมด จากกระบวนการดังกล่าว นายวีระพันธ์ควรจะรับรู้ว่า นายสมศักดิ์ไม่อาจดำเนินการอะไรตามใจชอบของตัวเองได้ ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายซึ่งออกในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ บังคับใช้มา 40 กว่าปีแล้ว

น.ส.ตรีชฎา กล่าวว่า ทั้งนี้เปรียบได้กับศาลยุติธรรมซึ่งมี 3 ศาล คือชั้นต้น อุทธรณ์ และฎีกา ส่วนศาลปกครองก็มีชั้นต้นและชั้นสูง การพิพากษาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อจะได้อำนวยความยุติธรรมให้คู่ความ การสอบสวนในหน่วยรัฐก็เช่นกัน มีทั้งสอบข้อเท็จจริงและสอบวินัย ผลการสอบออกมา ผู้ถูกลงโทษก็มีสิทธิอุทธรณ์ได้และนำไปฟ้องต่อศาลปกครองได้เช่นกัน การวีโต้หรือไม่วีโต้ของนายสมศักดิ์ ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ นายวีระพันธ์ไม่สมควรมาเดาและกล่าวหาให้ร้ายนายสมศักดิ์แทรกแซงแพทยสภา ต่างฝ่ายต่างก็ทำไปตามอำนาจหน้าที่ นายวีระพันธ์เป็นสมาชิกวุฒิสภา ก็ทำหน้าที่ตามขอบเขตหน้าที่ของตนเองตามกฎหมายไป และควรต้องรู้ว่าเรื่องนี้มีความซับซ้อนและมีการถกเถียงในสังคม ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

“ทุกอย่างกำลังดำเนินไปตามขั้นตอนและกระบวนการ มีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง กำลังทำไปตามอำนาจที่กฎหมายบัญญัติไว้ และควรยอมรับฟังความเห็นต่างหรือเหตุผลอีกฝ่าย ไม่ควรพยายามจะเอาแต่ใจตัวเอง รอเวลาไม่กี่วัน ทุกฝ่ายควรเข้าใจและยอมรับในบทบาทหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น ไม่ควรชี้นำสังคมไปในทางที่ตนเองเชื่อ” น.ส.ตรีชฎา กล่าว.