เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อพิจารณายุบพรรคภูมิใจไทย โดยระบุว่า การยื่นยุบพรรคภูมิใจไทยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 (1) มีการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครอง หรือได้มาซึ่งอำนาจการปกครองไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย ซึ่งเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ก็ได้ยื่นต่ออัยการสูงสุดไปแล้ว และ 92 (2) เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มายื่นต่อ กกต.ซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำของพรรคภูมิใจไทยเข้าองค์ประกอบความผิดตามที่ตนยื่นหรือไม่
นายณฐพร กล่าวว่า ส่วนพยานหลักฐานนั้น โดยหลักแล้วการยื่นยุบพรรค ต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องการล้มล้างการปกครองก่อน แต่คดีนี้พยานหลักฐาน เป็นข้อเท็จจริงเป็นเชิงประจักษ์ ซึ่งมีการตรวจสอบจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ และกกต. ว่า มีการกระทำฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ว่า การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย และเป็นเรื่องการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่มิชอบ และเป็นปฏิปักษ์ โดยรัฐธรรมนูญออกแบบให้ได้คนดี เด่น ดังมาเป็นวุฒิสภา จึงกำหนดให้ต้องเป็นคนที่มีความรู้ เชี่ยวชาญ เป็นที่ยอมรับของสังคม จึงออกแบบให้การเลือกมีความซับซ้อน เพื่อมาทำหน้าที่สำคัญอันหนึ่งคือการให้ความเห็นของกรรมการองค์กรอิสระ เพราะถ้าได้ สว.ที่มาจากฝ่ายการเมือง องค์กรอิสระก็จะได้คนที่ไม่ถูกต้อง ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ และทำให้เกิดความเสื่อมเสีย เสียหายต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งที่มาของเอกสารในคดีนี้เป็นหลักฐานทางราชการ ทั้งดีเอสไอ ประกอบกับดีเอสไอ และกกต.ก็ยืนยันว่าการได้มาของ สว.ชุดนี้มีการกระทำผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ซึ่งมาตรา 67 เขียนไว้ชัดเจนว่า พรรคการเมืองกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่ง สว.ก็ถือว่าเป็นความผิด และมาตรา 22 ของพ.ร.ป.พรรคการเมืองก็เขียนลักษณะเดียวกัน ดังนั้น ที่ตนมายื่นวันนี้เพราะ 1. มีข้อมูลว่า สว. 138 คน และสำรองอีกประมาณ 40 คน เป็นคนของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งตรงนี้ทำให้ตนมั่นใจว่า ในทางการสอบสวนไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
เมื่อถามว่า การมายื่นยุบพรรคการเมือง ก่อนที่การสอบสวนเรื่อง สว.ยังไม่เสร็จ จะเป็นการดิสเครดิตหรือไม่ นายณฐพร กล่าวว่า อย่าลืมว่า สว.มีหน้าที่แต่งตั้งองค์กรอิสระ แล้วในการทำงาน 1 ปีที่ผ่านมา การให้ความเห็นชอบองค์กรอิสระ ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งผ่านการสรรหามาด้วยคะแนนเสียงสูง แต่ สว.กลับไม่ให้ความเห็นชอบ ขณะเดียวกันก็มีการยึดอำนาจการพิจารณาของกรรมาธิการชุดต่างๆ ทำให้การทำงานในส่วนนี้ง่อยเปลี้ยเสียขา กรณีนี้จึงเป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งโดยหลักแล้ว สว.ชุดนี้ ควรสำนึกตัวเอง ไม่นำเรื่องการให้ความเห็นชอบกรรมการองค์กรอิสระที่เข้ามาพิจารณาในวันที่ 30 พ.ค. โดยรอการพิจารณาของศาล หากตัดสินว่าไม่ผิด ก็จะทำให้การตัดสินของเขาโปร่งใส สง่างาม

เมื่อถามว่านายอนุทิน เตรียมฟ้องคนที่ทำให้พรรคภูมิใจไทยเสียหายนั้น นายณฐพร กล่าวว่า นายอนุทิน เป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรี อาสามาทำงานเพื่อประเทศ ควรรับฟังความเห็น ข้อกล่าวหาของประชาชน ไม่ใช่ว่าเขาจะตรวจสอบแล้วท่านก็จะมาฟ้องร้อง ถ้าจะฟ้องก็ควรรอให้คดียุติก่อน ถ้าเป็นเท็จก็ควรดำเนินการ ไม่ใช่ว่าพอเขาจะตรวจสอบก็ไปฟ้องเขา อันนี้เป็นลักษณะของนักเลงหัวไม้มากกว่า การที่นายอนุทิน ระบุว่าเรื่องนี้ไร้สาระนั้น ตนมองว่านายอนุทินต่างหากที่ไร้สาระ ควรคำนึงถึงบทบาทของตัวเองเป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรีที่มีหน้าที่รับใช้ประชาชน สามารถให้ประชาชนตรวจสอบได้ อย่างคดีเขากระโดง ศาลฎีกาตัดสิน คุณยังตะแบงว่าไม่ใช่ แล้วอย่างนี้ประเทศเราจะอยู่แบบไหน
ทั้งนี้ตนมีรายชื่อ และรายละเอียดทั้งหมดว่าใครเป็นเจ๊ใหญ่ ใครเป็นผู้ยิ่งใหญ่ รับเงินมาอย่างไร และมีบรรดาหัวหน้าคนในจังหวัดต่างๆที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งถ้าใครอยากได้ สว.เพิ่มจาก 2 คนก็มีการจ่ายหัวละ 2-7 ล้านบาท ซึ่งเรื่องทุกอย่างที่ตนพูดมา ปรากฏอยู่ในสำนวนการสอบสวนของดีเอสไอ และกกต. โดยข้อมูลเส้นทางการเงินดีเอสไอมีหมด เขาจึงตั้งข้อหาอั้งยี่ซ่องโจร ส่วน กกต.ได้ตั้งข้อหาฮั้วเลือกสว.
“สิ่งที่ผมห่วงมากที่สุด ผมกลัวอยู่ 2 คนที่จะทำให้กระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนไป คนหนึ่งเป็นพลเอก ส. และอีกคนหนึ่งเป็นนาย ส. ที่จะทำให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยมีปัญหา และผมเรียนว่าคงไม่นานเกินรอด้วยขณะนี้ผมกำลังติดตามข้อมูลอยู่ ถ้าได้เบอร์โทรศัพท์ หรืออะไรต่างๆ มา ผมสัญญาว่าจะแถลงต่อสื่อมวลชนว่า มนุษย์ 2 คนนี้เป็นใครแล้วทำอะไร เพราะฉะนั้นกระบวนการยุติธรรมที่เราได้ร้องๆ ไป มันไม่เป็นผลเพราะเกิดจากคน 2 คนนี้ ถึงเวลาแล้วที่เราจะทำให้ประเทศชาติปราศจากนักการเมืองชั่วๆ นักลงทุนชั่วๆ” นายณฐพร กล่าว
เมื่อถามว่ารายชื่อ 2 ส. ที่ระบุมามีอำนาจที่จะสั่งการองค์กรอิสระได้ทุกองค์กรเลยหรือไม่ นายณฐพร กล่าวสั้นๆ ว่า ใช่ครับ เมื่อถามต่อว่า 2 ส.ที่กล่าวถึงนั้นเข้ามามีบทบาททางการเมืองตั้งแต่เมื่อไหร่ นายณฐพร กล่าวว่า ตั้งแต่หลังรัฐประหาร
เมื่อถามว่า การยื่นคำร้องในวันนี้เป็นนิติสงครามทางการเมืองระหว่างสีแดงและสีน้ำเงิน เหมือนที่มีการพูดหรือไม่ นายณฐพร กล่าวว่า ตนไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองใดๆ ไม่สนิทกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล นายเนวิน ชิดชอบ หรือนายทักษิณ ชินวัตร ตนก็เคยฟ้องนายทักษิณ ในกรณีเกี่ยวกับการอภัยโทษที่มีความมิชอบ เรียนว่าตนไม่ใช่สีใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นสีของประชาชน

วันเดียวกัน นายภัทรพงศ์ ศุภักษร ทนายความ และคณะ ได้เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้พิจารณาและเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีสมาชิกวุฒิสภาที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีหนังสือเรียกให้มารับทราบข้อกล่าว เมื่อวันที่ 19-21 พฤษภาคม 2568 ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาดังกล่าวมีพฤติกรรมที่ทำให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภา ปี พ.ศ. 2567 เป็นไปโดยไม่สุจริตและไม่เที่ยงธรรม อันเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียนและผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภารายอื่น ๆ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 25