“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” แจ้งว่า ขณะนี้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์โครงสร้างคานของงานก่อสร้างโครงการทางพิเศษ(ด่วน) สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯ สัญญา 3 ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเกิดการทรุดตัวถล่มลงมา บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางด่วนดาวคะนอง เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2568 และทีมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้สรุปผลการสอบข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว และนำเสนอต่อนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) แล้ว คาดว่าจะเสนอนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ปลายสัปดาห์นี้หรือไม่เกินต้นสัปดาห์หน้า ขณะเดียวกันจะส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับผลการสอบฯ เบื้องต้น พบว่า ความผิดพลาดเกิดจากกระทำของคน (Human Error) ซึ่งจากตรวจสอบการออกแบบ และการดำเนินการก่อสร้างแล้ว ทำถูกต้องตามหลักวิศวกรรม รื้อดูแล้วพื้นไม่ทรุด เหล็กก็เป็นไปตามมาตรฐาน ผู้รับจ้างก็ต้องรับผิดชอบ อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรียกร้องค่าเสียหาย ซึ่งจะมีทั้งฝ่ายกฎหมาย และฝ่ายการเงินเข้ามาร่วมพิจารณา โดยจะมีการประเมินความเสียหายจากการสูญเสียรายได้ค่าทางด่วนที่ต้องมีการปิดด่านดาวคะนองขาเข้านานเกือบ 1 สัปดาห์ และขาออกปิดเกือบ 1 เดือน ซึ่งขณะนี้ตัวเลขของการเรียกร้องชดเชยค่าเสียหาย ยังไม่ชัดเจน จะต้องนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาประเมิน คาดว่าเบื้องต้นจะอยู่ที่ประมาณวันละ 1 ล้านบาท

คณะกรรมการพิจารณาเรียกร้องค่าเสียหาย จะใช้เวลาในการประเมินฯ ไม่เกิน 2 สัปดาห์ จะได้ข้อสรุปของตัวเลขเงินชดเชยค่าเสียหายที่แท้จริง และผู้ที่รับผิดชอบมีใครบ้าง ในสัดส่วนเท่าใด ซึ่งการเรียกร้องค่าเสียหายก็ต้องดำเนินการ แต่กาลงโทษผู้รับจ้างนั้น ตามกฎหมายปัจจุบัน กทพ. ไม่สามารถเอาผิดผู้รับจ้างได้ การจะเอาผิดได้ ผู้รับจ้างต้องเป็นผู้ทิ้งงาน แต่ในอนาคตเมื่อมีการนำสมุดพกมาใช้ กทพ. ก็จะบันทึกข้อมูลว่าผู้รับจ้างเคยเกิดอุบัติเหตุในการทำงานลงอยู่ในสมุดด้วย
สำหรับโครงการทางด่วน สายพระราม 3 -ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก สัญญาที่ 3 งานสร้างทางยกระดับ ช่วงจากโรงพยาบาลบางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง ระยะทาง 5 กม. เป็นหนึ่งใน 4 สัญญางานโยธา มีกิจการร่วมค้า ไอทีดี – วีซีบี ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้รับจ้าง วงเงินประมาณ 7.3 พันล้านบาท