เมื่อวันที่ 22 พ.ค. นายปวัตร วงษ์ชูแก้ว กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฮลท์ อินโนเวชั่น โปรดักส์ จำกัด ในฐานะบริษัทเจ้าของโครงการ “ปุ๋ยพร้อมใช้ แบ่งจ่ายสองรอบ” เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า โครงการปุ๋ยพร้อมใช้ แบ่งจ่าย 2 รอบ สามารถช่วยเกษตรกรได้ 5 เรื่องหลัก ก็คือ 1. เกษตรกรมีโอกาสซื้อสินค้าคุณภาพในราคาที่ต่ำ 2.ทำให้เกษตรกรมีโอกาสในการลดต้นทุนการผลิตได้ดีขึ้น 3.โครงการเปิดโอกาสให้เกษตรกรสามารถจ่ายเงินค่าสินค้า 50% หลังเก็บเกี่ยวได้ และ 4.ช่วยให้เกษตรกรสามารถปรับปรุงดินในพื้นที่ของตัวเองให้ดีขึ้น เพราะปัจจุบันเราพบว่าดินในการทำเกษตรของบ้านเรากลับแย่ลงทุกวัน จึงส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และข้อสุดท้ายคือ 5. ประโยชน์จากการที่เกษตรกรมีพี่เลี้ยง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรให้กับเกษตรกรในประเทศ

นายปวัตร กล่าวต่อว่า สำหรับสินค้าที่นำเข้ามาร่วมในโครงการครั้งนี้มีทั้งหมด 5 สูตรด้วยกัน ซึ่งทั้ง 5 สูตรนอกจากจะมีสูตรปรับปรุงดินแล้ว อีก 4 สูตร ยังให้ธาตุอาหารครบทั้งธาตุหลัก ธาตุรอง และธาตุเสริม ครบตามที่พืชต้องการอีกด้วย เกษตรกรสามารถนำไปใช้ได้ตั้งแต่ช่วงการปรับปรุงดิน ช่วงพืชปลูกใหม่หรือช่วงบำรุงพืชหลังเก็บเกี่ยว, ช่วงเร่งการแตกตาแตกดอกของพืช และ ช่วงบำรุงผลผลิตก่อนเก็บเกี่ยวโดยที่เกษตรกรไม่จำเป็นต้องซื้อปุ๋ยชนิดอื่นมาเพิ่มเติม

นายปวัตร กล่าวต่อว่า เรายังเปิดโอกาสให้เกษตรกรจ่ายเงินค่าสินค้าก้อนแรกแค่ 50% ส่วนอีก 50% ที่เหลือเราผ่อนผันให้เกษตรกรนำมาจ่ายให้กับเราหลังการเก็บเกี่ยวได้ ในขณะที่การจัดส่งสินค้าจะเป็นลักษณะการจัดส่งแบบเก็บเงินปลายทาง สินค้า 1 ชุดสามารถนำไปใช้ได้ 10 ไร่ เราจัดจำหน่ายให้เกษตรกรในชุดละ 3,900 บาท ซึ่งต้นทุนจะตกเพียงไร่ละ 390 บาทเท่านั้น คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรโดยรวมได้ไม่ต่ำกว่า 30-50% ส่วนการจัดส่งสินค้าจะเป็นลักษณะการจัดส่งแบบเก็บเงินปลายทาง

“ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นโครงการที่ดีและเหมาะสมต่อการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรในยุคปัจจุบันมากที่สุด หลังจากการเปิดตัวโครงการในครั้งนี้ เรามีเป้าหมายการช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้เดือนละ 10,000-20,000 ไร่ต่อเดือน ส่วนเป้าหมายในปีถัดไปนั้น วางเป้าหมายไว้ที่ 100,000-200,000 ไร่ ต่อเดือน” นายปวัตร กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน นายกฤษชนก ตัณฑเศรณีวัฒน์ ประธานกลุ่มโรงงานผลิตปุ๋ยเครือ ภาคภูมิ กรุ๊ป ในฐานะโรงงานผลิตสินค้าและผู้ออกแบบสูตร เปิดเผยว่า กลุ่มโรงงานผลิตปุ๋ยในเครือ ภาคภูมิ กรุ๊ป ของเรา มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนบริษัทเอกชนในการนำโครงการดีๆ อย่างนี้ ออกไปช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ซึ่งถือเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้ตรงจุด

นายกฤษชนก กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันโรงงานของเราเปิดดำเนินกิจการมากว่า 27 ปี ถือเป็นโรงงานผลิตปุ๋ยครบวงจรขนาดใหญ่ และเป็นโรงงานส่งวัตถุดิบปุ๋ยให้กับโรงงานปุ๋ยต่างๆ ที่ต้องการ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งโรงงานมีเนื้อที่มากกว่า 800 ไร่ มีกำลังการผลิตประมาณ 5,000 ตันต่อวันในประเภทปุ๋ยเม็ด และมีกำลังผลิตประมาณ 100,000 ขวดต่อวัน ในประเภทปุ๋ยน้ำ ซึ่งเรามั่นใจว่าจะสามารถรองรับการผลิตจากการเติบโตของโครงการนี้ได้เป็นอย่างดี

“สินค้าที่โรงงานผลิตให้ในโครงการนี้ขอให้เกษตรกรทุกคนมั่นใจได้เลยว่าเป็นสินค้าที่ดีและมีคุณภาพ ที่เกษตรกรนำไปใช้แล้วมีความคุ้มค่าอย่างแน่นอน” นายกฤษชนก กล่าว

ในขณะที่ นายชวริจณ์ ประสิทธิ์ภูพัน ในฐานนะ ที่ปรึกษาโครงการฯ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ตนในฐานะที่มีประสบการณ์ด้านการตลาดให้กับโรงงานผลิตปุ๋ย และบริษัทเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าด้านการเกษตร รวมถึงปัจจุบันยังเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านการเกษตรแก่เกษตรกร มามากกว่า 10 ปี จากประสบการณ์การลงพื้นที่ ได้พบปะกับเกษตรกรทั้งในประเทศและต่างประเทศ พบว่ามีปัญหาด้านการเกษตรที่คล้ายคลึงกัน

นายชวริจณ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาหลักในการทำการเกษตรในปัจจุบันมี 5 เรื่องด้วยกันก็คือ 1.ปัญหาเรื่องของคน ที่ขาดวินัย และขาดความรู้ในด้านการทำเกษตรที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการใส่ปุ๋ยที่ถูกต้อง การให้ธาตุอาหารที่ตรงกับความต้องการของพืช 2.ปัญหาของดินพบว่าดินในปัจจุบันมีปัญหาทั้งระบบ โดยเฉพาะความเป็นกรด และการขาดธาตุอาหารในดินที่มีน้อยลงทุกวัน 3.ปัญหาของพืช ซึ่งเกิดความเชื่อมโยงมาจากคน และดิน ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชโดยตรง ทำให้เกษตรกรต้องใส่ปุ๋ยในปริมาณที่มากขึ้น 4.ปัญหาที่เกิดมาจากปุ๋ย อาทิ ปุ๋ยคุณภาพต่ำ, ปุ๋ยแพง, ปุ๋ยปลอม ที่ยังคงสร้างปัญหาให้เกษตรกรในปัจจุบัน และ 5.ปัญหาด้านการตลาด ซึ่งเป็นภาพใหญ่ที่ต้องถูกได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ พร้อมกับการให้ความรู้ด้านการตลาดให้กับเกษตรกรซึ่งตรงนี้เกษตรกรยังขาดความรู้อยู่อีกมาก

นายชวริจณ์ กล่าวทิังท้ายว่า การที่มีเอกชนและโรงงานผลิตปุ๋ย มาร่วมมือกันสร้างโครงการช่วยเหลือเกษตรกรในแนวแบบนี้ออกมา ถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับเกษตรกร โดยเฉพาะการช่วยให้เกษตรกรได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ และการช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนเพิ่มกำไรได้ รวมถึงการเล็งเห็นถึงความสำคัญในการฟื้นฟูสภาพดินในพื้นที่การเกษตรในปัจจุบัน และการสรรหาบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรมาคอยเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง ซึ่งตรงนี้หากทำได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างมาก.