เมื่อวันที่ 23 พ.ค. เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่คำวินิจฉัย กกต. ที่มีคำสั่งให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและสิทธิเลือกตั้งของนายขวัญชัย บุญเพ็ชร ผู้มีสิทธิเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับจังหวัด จ.สมุทรปราการ กลุ่มที่ 15 ผู้สูงอายุ คนพิการ ชาติพันธุ์ หมายเลข 2 นายมงคล ลีลาเลอเกียรติ ผู้มีสิทธิเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับอำเภอ อำเภอเมือง จ.สมุทรปราการ กลุ่มที่ 15 หมายเลข 18 และนายนิธิพล บุญเพ็ชร ผู้ซึ่งไม่ใช่ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 62 และรัฐธรรมนูญมาตรา 226 พร้อมดำเนินคดีอาญาบุคคลทั้งสาม ตามมาตรา 77(1) พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561

เนื่องจากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า วันที่ 13 มิ.ย. 67 บุคคลทั้งสามและพยานเดินทางไปที่ร้านครัวคุณนออาหารไทย อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ จริง และพยานให้ถ้อยคำสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่ปรากฏบทสนทนาตามคลิปบันทึกเสียง ซึ่งมีการถอดข้อความโดยพยานที่เป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดสมุทรปราการว่า เป็นการสนทนากันระหว่างนายมงคล นายนิธิพล และพยานอีก 2 คน เกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับจังหวัดและระดับประเทศ การขอและแลกเปลี่ยนคะแนน รวมถึงการเสนอผลประโยชน์ให้แก่กัน

โดยนายมงคลกล่าวถ้อยคำว่า “ตอนนี้ผมพูดตรง ๆ เลยนะว่าสองนะไม่มี รู้มั้ยทำไมผมถึงพูดคำนี้ เพราะตอนนี้ก็เหมือนอย่างเรา ผมก็หากลุ่ม หากลุ่ม ๆ เรามาจอยกัน แล้วก็ดูวัตถุประสงค์ของแต่ละคนว่าเป็นยังไงบ้างอ่ะ อยากได้แต้มใช่มั้ยครับ ผมมีตัวแลกนะ ถ้ายอมถอย ผมมี หรือถ้าอยากได้ตำแหน่ง ผมมีตำแหน่งให้ ถ้าผมได้เข้าไป” และ “ผมไม่ได้มองว่าคุณต้องมาช่วยผมร้อยเปอร์เซ็นต์นะครับ แต่ผมมองว่าเรารู้จักกันวันนี้ เพื่อผลประโยชน์ในวันข้างหน้าที่มันจะลงตัว คุณกับเราต่างมีผลประโยชน์ร่วมกันแล้วแลกเปลี่ยนกัน หรือว่า คุณพอใจส่วนไหน เราจัดให้ได้  ถ้าคุณช่วยผลักดันเรา” และนิธิพลกล่าวถ้อยคำว่า “คือ.. (ชื่อพยาน).. ต้องเข้าใจผมอย่างหนึ่งว่า ผมเนี่ยลงมาช่วยคุณพ่อ” รวมถึงข้อความอื่น ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ที่นายนิธิพล เข้ามาช่วยเจรจากับพยาน เพื่อขอให้ลงคะแนนให้แก่นายขวัญชัย ซึ่งมีลักษณะเป็นการเสนอให้ผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่พยานเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนให้แก่นายขวัญชัย

ประกอบกับเมื่อตรวจสอบการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายมงคล ระหว่างวันที่ 1 พ.ค. 67-30 มิ.ย. 67 พบว่านายมงคลโทรศัพท์ติดต่อกับนายขวัญชัย จำนวน 34 ครั้ง และนายมงคลโทรศัพท์ติดต่อกับนายนิธิพล จำนวน 23 ครั้ง จึงน่าเชื่อว่านายขวัญชัย ก่อ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำดังกล่าวของนายมงคล และนายนิธิพล ซึ่งเป็นบุตรของตนด้วย กรณีจึงมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า บุคคลทั้งสาม กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิก วุฒิสภา 2561 มาตรา 77 (3) ซึ่งเป็นการทุจริตในการเลือก อันเป็นเหตุให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริต หรือเที่ยงธรรม ตามมาตรา 62 ของกฎหมายเดียวกัน.