ในยุคที่ผู้คนต้องเผชิญกับความผันผวนทางเศรษฐกิจควบคู่กับปัญหาสุขภาพที่คาดไม่ถึง การวางแผนชีวิตอย่างรอบด้านจึงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็น ‘ทางรอด’ ที่จำเป็น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองและครอบครัว ทั้งในมิติการเงิน สุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว

ดังที่ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี จึงร่วมกับโรงพยาบาลสมิติเวช จัดเวทีเสวนา ‘KTC FIT Talk’ ครั้งที่ 14 ภายใต้หัวข้อ “สร้างภูมิ-ปลดล็อกภาระการเงินและปัญหาสุขภาพ ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ” เพื่อจุดประกายแนวคิดการวางแผนชีวิตอย่างรอบด้าน รับมือกับความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน โดยเน้นการดูแลสุขภาพและการเงินควบคู่กันอย่างยั่งยืน

‘สิรีรัตน์ คอวนิช’ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาดบัตรเครดิตหมวดสุขภาพและความงามของเคทีซี เปิดเผยว่า พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่เปลี่ยนแปลงไปหลังวิกฤตโควิด-19 โดยให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตมากขึ้น ส่งผลให้การใช้จ่ายผ่านบัตรในหมวดสุขภาพเติบโตกว่า 50% โดยเฉพาะกลุ่มคนอายุ 20-29 ปี หรือกลุ่ม Gen Z ที่หันมาใส่ใจสุขภาพเร็วขึ้น และมีอัตราการใช้จ่ายในหมวดฟิตเนสและโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นกว่า 30% สะท้อนพฤติกรรมการบริโภคที่ขับเคลื่อนด้วยเป้าหมายระยะยาว ไม่ใช่เพียงความสะดวกชั่วคราว พร้อมระบุว่าในปี 2568 เคทีซีเตรียมขยายความร่วมมือกับพันธมิตรสุขภาพทั่วประเทศ เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ โดยครอบคลุมทั้งโรงพยาบาล ฟิตเนส และเทคโนโลยีสุขภาพสวมใส่ (Wearable Devices) ซึ่งกำลังมีบทบาทสำคัญต่อแนวทางการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน

ด้าน นายแพทย์นรศักดิ์ สุวจิตตานนท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจและการกีฬา โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท กล่าวว่า เทคโนโลยีอย่าง Smartwatch และ Smart Ring ช่วยให้การดูแลสุขภาพเชิงรุกเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น ด้วยความสามารถในการตรวจจับสัญญาณความเสี่ยงตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งโรงพยาบาลสมิติเวชได้นำเทคโนโลยีเหล่านี้มาบูรณาการเป็นบริการ Samitivej Wearable Clinic ที่ผู้ใช้งานสามารถเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพผ่านแอปพลิเคชัน Well by Samitivej เพื่อประเมินสุขภาพเบื้องต้นโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ข้อมูลจากอุปกรณ์ Wearable เหล่านี้ ช่วยให้แพทย์สามารถให้คำปรึกษาเฉพาะบุคคลได้แม่นยำยิ่งขึ้น ผ่านช่องทางออนไลน์หรือโรงพยาบาล โดยครอบคลุมด้านการนอนหลับ สุขภาพหัวใจ โภชนาการ การออกกำลังกาย และภาวะอารมณ์ ซึ่งถือเป็นการยกระดับระบบสุขภาพไปสู่ความยั่งยืนด้วยการเน้นการป้องกันมากกว่ารักษา

ในส่วนของมุมมองทางการเงิน ‘อภิเชษฐ์ เกียรติวรคุณ’ CFA ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของเคทีซี ชี้ว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังผันผวนในครึ่งหลังของปี 2568 ทำให้การวางแผนด้านการเงินและสุขภาพอย่างรอบด้านมีความจำเป็นมากขึ้น โดยเฉพาะการตั้งงบประมาณอย่างมีเป้าหมาย สร้างเงินสำรองฉุกเฉิน และวางแผนเกษียณอย่างชัดเจน เนื่องจากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า คนไทยกว่า 80% ยังไม่มีแผนเกษียณ และมีภาระหนี้สินในระดับที่น่ากังวล

ทั้งนี้ อภิเชษฐ์ แนะนำให้ผู้บริโภคจัดการเงินโดยใช้สูตร 50-30-20 หรือ 60-20-20 ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล ลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และฝึกวินัยผ่านการออมอัตโนมัติ พร้อมย้ำว่า “สุขภาพที่ดีคือสินทรัพย์ระยะยาว ที่หากไม่มีการดูแลตั้งแต่วันนี้ อาจส่งผลให้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายมหาศาลในอนาคต”

ความร่วมมือระหว่างเคทีซีและสมิติเวชครั้งนี้ ไม่เพียงตอกย้ำการเป็นพันธมิตรด้านสุขภาพ แต่ยังสะท้อนแนวทางสร้างความยั่งยืนในชีวิตของผู้บริโภค ด้วยการผสานมุมมองทางสุขภาพและการเงินเข้าไว้ด้วยกันอย่างสมดุล ลดความเสี่ยงจากวิกฤต และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชีวิตและครอบครัวในระยะยาว