สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ว่า ผู้พิพากษาอัลลิสัน เบอร์โรห์ส แห่งศาลรัฐบาลกลาง ที่เมืองบอสตัน ในรัฐแมสซาชูเซตส์ มีคำสั่งฉุกเฉิน ระงับคำสั่งของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ซึ่งเพิกถอนสิทธิของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จากโครงการรับรองนักศึกษาและผู้มาเยือนแลกเปลี่ยน (เอสอีวีพี) โดยจะมีการพิจารณาคำฟ้องในวันที่ 29 พ.ค. นี้


ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าว โดยยืนยันว่า เป็นการใช้สิทธิตามบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 เพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพในการพูดและแสดงความคิดเห็น และให้เหตุผลว่า มาตรการของรัฐบาลวอชิงตัน ไม่เพียงจะทำให้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ไม่สามารถรับนักศึกษาต่างชาติได้อีก แต่เป็นการกดดันให้นักศึกษาต่างชาติปัจจุบันทุกคนของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ต้องย้ายไปเรียนที่สถาบันแห่งอื่นด้วย มิเช่นนั้นอาจสูญเสียสถานะทางกฎหมาย เนื่องจากไม่มีความคุ้มครองจากเอสอีวีพี


ทั้งนี้ นางคริสตี โนเอม รมว.ความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐ กล่าวมานานระยะหนึ่งแล้ว ว่าจะเพิกถอนสิทธิดังกล่าวของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หากไม่มีการตอบสนองต่อคำร้องของรัฐบาล ในการขอข้อมูลบางส่วนของนักศึกษาต่างชาติ ภายในสิ้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา


ขณะที่ก่อนหน้านั้น รัฐบาลสหรัฐเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานหลายอย่าง เพื่อให้ “สอดคล้อง” กับมาตรการต่อต้านกระแสเกลียดชังชาวยิวในสถานศึกษา แต่ทั้งสองฝ่ายงัดข้อกันเรื่อยมา จนต้องเผชิญกับการถูกระงับงบประมาณแล้วมหาศาล

อนึ่ง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐ ก่อตั้งเมื่อปี 2179 และข้อมูลล่าสุดของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดระบุว่า สถาบันมีนักศึกต่างชาติ 6,793 คน คิดเป็น 27.2% ของนักศึกษาทั้งหมด ในปีการศึกษา 2567-2568.

เครดิตภาพ : AFP