เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่กลายเป็นไวรัลอย่างมากอยู่ขณะนี้ หลังเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 68 แฟนเพจTensia ได้ออกมาโพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับข้อสงสัยที่หลายคนพบเจอบ่อย นั่นคือ “ทำไมดื่มกาแฟแล้วต้องปวดอุจจาระทุกครั้ง” ซึ่งอาการปวดอุจจาระหลังดื่มกาแฟทันที อาจเกิดจาก เซลล์เส้นประสาท ที่ไวต่อสารสำคัญในกาแฟ เช่น CGA (Chlorogenic Acid) และ Melanordins ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ แต่หากมีอาการปวดถ่ายช้ากว่านั้น และลักษณะอุจจาระเป็นแบบกึ่งเหลวหรือเหลว อาจเกี่ยวข้องกับ นมหรือผลิตภัณฑ์จากนม ที่ใส่ในกาแฟ ซึ่งบางคนอาจแพ้แลคโตส (Lactose Intolerance) โดยไม่รู้ตัว

โดยเพจ Tensia ระบุข้อความว่า “ทำไมดื่มกาแฟทีไร ปวดอุจจาระทุกที อาจเกิดจากเซลล์เส้นสีน้ำเงินในภาพ ไวต่อสาร CGA และ Melanordins ในกาแฟ แต่ถ้าปวดอุจจาระช้ากว่านั้น รวมกับถ่ายกึ่งเหลว อาจเกี่ยวกับนมในกาแฟ มันจะมีคนอยู่กลุ่มหนึ่งค่ะ ที่กินแล้ว ผลทางระบบทางเดินอาหารจะดีกว่าชาวบ้าน สักประมาณ 15-30 นาที ก็เริ่มปวดท้อง วิ่งหาห้องน้ำกัน บางคนไวมาก ไม่ถึง 5 นาที ที่น่าสนใจคือ กาแฟที่มี caffeine และไม่มี caffeine ก็โดนหมด”

“เหตุที่เป็นแบบนี้ เพราะว่าในกาแฟมันมีมากกว่า caffeine แม้กระทั่งกาแฟเพียวๆ เลยค่ะ สารอื่นที่สำคัญ เช่น Chlorogenic acids (CGA) และ Melanordins สองตัวนี้มีออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ที่ฝังตัวอยู่ที่ผนังกระเพาะและลำไส้เรียกว่า Enteric nervous system (ย่อว่า ENS) ให้ไวต่อการกระตุ้นมากขึ้น ซึ่ง ENS ประกอบด้วยร่างแหเซลล์ประสาทมากมาย ซึ่งตรงกับสีน้ำเงินในภาพ”

นอกจากนี้ “ซึ่งเจ้าร่างแห ENS นี้ จะเชื่อมต่อสัญญาณกับเส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 (Vagus nerve) อีกที สร้างเป็นวงจรที่เรียกว่า Gastrocolic reflex ซึ่งเป็น reflex ที่ทำให้เวลากินอาหารเข้ามาดึงยืดกระเพาะอาหารแล้ว เกิดการบีบตัวลำไส้ใหญ่แล้วปวดท้องถ่าย ดังนั้น พอดื่มกาแฟเข้ามาสาร CGA และ Melanordins จะทำให้ร่างแห ENS ไวขึ้น Reflex เกิดได้ง่ายขึ้นมากๆ จนกระทั่ง เพิ่มการบีบตัวของลำไส้ใหญ่รุนแรง จนปวดท้องอุจจาระนั่นเอง บางคนมีอาหารในกระเพาะอยู่แล้ว หรือกินอาหารไปด้วย ก็ยิ่งกระตุ้นค่ะ ในคนที่มีร่างแหสีน้ำเงินในภาพ จะไวกว่าปกติต่อสาร CGA และ Melanordins จากกาแฟ ก็จะทำให้ปวดง่ายกว่าปกติมากๆ นั่นเองค่ะ ซึ่งลักษณะอุจจาระมักปกติ แค่ปวดถ่ายไวขึ้นเท่านั้นเอง”

อย่างไรก็ตาม “แต่ในบางคนที่ดื่มกาแฟไปแล้ว ใช้เวลานานพอควร 0.5-2 ชั่วโมง แล้วถ่าย มีถ่ายเหลวร่วมด้วย กรณีนี้อาจจะเกิดจาก “นม” ที่ผสมในกาแฟก็ได้ เพราะนมมีน้ำตาลแลคโตส ซึ่งบางคนมีน้ำย่อย Lactase น้อย ทำให้ไม่ถูกย่อย ดึงน้ำ สร้างแก๊สสารพัด Casein A (บางชนิด) และย่อยแล้วได้สาร BCM-7 ซึ่งบางคนเกิดปฏิกิริยาแพ้ได้เล็กน้อย กระตุ้นการบีบตัวลำไส้ กรณีนี้จะเกิดในคนที่มีปัญหากับนมอยู่แล้วค่ะ แน่นอนว่าถ้ากินกาแฟที่ไม่มีนมเลย ก็ไม่มีปัญหาค่ะ”

ขอบคุณข้อมูล : Tensia