นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 วงเงิน 3,780,600 ล้านบาท จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระที่ 1 ช่วงวันที่ 28-30 พ.ค.2568 หากผ่านความเห็นชอบจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาขั้นกรรมาธิการ ในวาระที่ 2 และ 3 ช่วงเดือน ส.ค.2568 หลังจากผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มั่นใจว่างบฯปี 2569 จะแล้วเสร็จ พร้อมประกาศก่อนเริ่มปีงบประมาณเดือน ต.ค.2568 จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในส่วนของกระทรวงคมนาคมได้รับจัดสรรฯ 261,292 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,715 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.83% แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 30,666 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 230,626 ล้านบาท แบ่งเป็น รายการปีเดียว 146,881 ล้านบาท และรายการผูกพันใหม่ 15,561 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนราชการ 9 หน่วยงาน 200,756 ล้านบาท เรียงตามลำดับสูงสุด

1.กรมทางหลวง(ทล.) 131,932.2 ล้านบาท

2.กรมทางหลวงชนบท(ทช.) 53,598.9 ล้านบาท

3.กรมท่าอากาศยาน(ทย.) 5,349.1 ล้านบาท

4.กรมเจ้าท่า(จท.) 4,253 ล้านบาท

5.กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) 3,913.5 ล้านบาท

6.สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม 1,123.8 ล้านบาท

7.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) 274.18 ล้านบาท

8.สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง 168.59 ล้านบาท

9.กรมการขนส่งทางราง(ขร.) 142 ล้านบาท

ส่วนรัฐวิสาหกิจ 5 หน่วยงาน 60,536 ล้านบาท

1. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) 33,258.17 ล้านบาท

2.การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) 19,418 ล้านบาท

3.การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) 2,653.6 ล้านบาท

4. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) 4,897.7 ล้านบาท

5. สถาบันการบินพลเรือน(สบพ.) 308.2 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวถามว่า งบประมาณ71%ถูกจัดให้ทล.และ ทช. ด้านงานถนน ขณะที่ทล.หน่วยเดียวได้รับงบฯเกินครึ่งของทั้งกระทรวงแบบนี้ทุกปี นายสุริยะ กล่าวว่า นโยบายกระทรวงคมนาคม เน้นพัฒนาด้านระบบราง เพื่อเพิ่มทางเลือก และอำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ประชาชน อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ทั้ง 6 เส้นทาง แต่พ.ร.บ.งบประมาณฯ หน่วยงานระบบรางได้รับจัดสรรน้อยเพราะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งงบฯที่ใช้ลงทุนโครงการต่างๆ จะให้ใช้เงินกู้แยกจาก พ.ร.บ.งบฯ

เมื่อผู้สื่อข่าวตรวจสอบข้อมูลกับทล.และทช. พบว่าตามปกตินอกจากงบประมาณแล้ว โครงการต่างๆยังใช้เงินกู้ด้วย อาทิ โครงการM7ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ของทล. ส่วนของทช. อาทิ โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา วงเงิน 4,700 ล้านบาท และ สะพานเชื่อมเกาะลันตา จ.กระบี่ วงเงิน 1,800 ล้านบาทรวมเป็น 6,500 ล้านบาท