น.ส.ภัทรอนงค์ ณ เชียงใหม่ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะใกล้ ถือเป็นตลาดหลักที่เข้ามาเที่ยวไทย โดยเฉพาะจีน และเพื่อนบ้าน ททท.จึงวางกลยุทธ์เพื่อบริหารตลาดระยะใกล้ สร้างรายได้ของนักท่องเที่ยวไปให้ถึงเป้าหมาย จำนวน 1.36 ล้านล้านบาท หรือในสัดส่วน 61% ของรายได้ภาพรวมจากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 2.23 ล้านล้านบาท โดยตลาดระยะใกล้จะหากลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่ๆ เหมือนสมัยก่อนที่เป็นโซนยุโรป สหรัฐ วัยรุ่นจะนิยมเข้ามาเที่ยวไทยแบบแบคแพค จากนั้นเมื่อเรียนจบมีงานทำก็กลับมาเที่ยวไทยซ้ำอีก ซึ่งจะต้องหากลุ่มวัยรุ่น วัยเรียน ที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ในตลาดระยะใกล้เข้ามาเที่ยวไทยเพิ่ม

“ปีก่อนโควิด-19 ระบาด ตลาดญี่ปุ่นมีกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษาเข้ามาเที่ยวไทยค่อนข้างมาก เป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างโรงเรียนของทั้ง 2 ประเทศ เป็นนโยบายจากรัฐบาลญี่ปุ่น ต้องการให้เด็กโตแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ จึงมีการเดินทางเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเกิดโควิดระบาด กลุ่มนี้ก็หายไป ซึ่งขณะนีเริ่มมีความต้องการหรือดีมานด์มากขึ้นแล้ว แต่เนื่องจากญี่ปุ่นมีปัญหาเรื่องค่าเงินอ่อน และภาพลักษณ์ท่องเที่ยวด้านความปลอดภัยของไทยยังมีปัญหา ทำให้กลุ่มนักศึกษาญี่ปุ่นไปเที่ยวมาเลเซีย หรือสิงคโปร์แทน แต่ ททท.อยู่ระหว่างพยายามดึงกลุ่มนี้กลับมา เพราะเป็นกลุ่มที่ย้อนกลับมาเที่ยวไทยซ้ำในอนาคตได้” น.ส.ภัทรอนงค์ กล่าว
สำหรับการบริหารกลยุทธ์ตลาดระยะใกล้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.ตลาดที่ติดลบเยอะ อาทิ จีน ลดลง 32% ฮ่องกง ลดลง 22% เวียดนาม ลดลง 16% เกาหลี ลดลง 15% ซึ่งกลุ่มนี้กังวลเรื่องของความปลอดภัยเป็นสำคัญ จึงต้องเร่งสร้างภาพลักษณ์สร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยว โดย ททท.จะทำตลาดผ่านการมากลุ่มเซ็กเมนต์ใหม่ๆ ในกลุ่มตลาดที่ติดลบอยู่ อาทิ กลุ่มท่องเที่ยวเชิงกีฬา กลุ่มเวลเนสและสปา กลุ่มอินเซนทีฟ 2.กลุ่มที่บวกๆ ลบๆ ขึ้นอยู่กับฤดูของการเดินทางท่องเที่ยว ได้แก่ เกาหลี ไต้หวัน มาเลเซีย ซึ่ง ททท. จะต้องหาแนวทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยว อาทิ มาเลเซียที่จะนิยมเดินทางเข้าไทยในช่วงวันหยุดศุกร์-อาทิตย์ และจำนวนร่วงลงในช่วงวันธรรมดา
น.ส.ภัทรอนงค์ กล่าวว่า 3. ตลาดที่บวกอยู่ อย่างญี่ปุ่นแม้ยังอยู่ในแดนบวก แต่ก็ต้องบริหารสถานการณ์หากลยุทธ์ใหม่ๆ เพราะจีนถือเป็นตลาดคู่แข่งที่ดึงนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นไป ส่วนนักท่องคนญี่ปุ่นที่มาไทยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่เคยมาไทยแล้ว ซึ่งเป็นกลุ่มสูงวัย เพื่อเจาะกลุ่มใหม่ๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยมาไทย รวมถึงผู้หญิง ซึ่งไทยมีสินค้าบริการสำหรับผู้หญิงเยอะมาก ทั้งสปา รูฟท็อปบาร์ คาเฟ่เกร๋ๆ เยอะมาก แต่จากการสำรวจตลาดญี่ปุ่นที่เดินทางเข้าไทยก่อนโควิด พบว่ามีสัดส่วนผู้ชายสูงกว่าผู้หญิง และ 4.กลุ่มบวกทะลุโด่ง ได้แก่ อินเดีย บวก 16% ออสเตรเลีย บวก 16% อินโดนีเซีย บวก 1% ฟิลิปปินส์ บวก 32% และญี่ปุ่น ที่แม้บวกช้าแต่บวกชัวร์ ซึ่งตั้งเป้าหมายทั้งปี 2568 ตลาดญี่ปุ่นอยู่ที่ 1.2 ล้านคน แต่จะต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อคนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องมองหาสินค้าและบริการใหม่ๆ อาทิ สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เพื่อขยายวันพักให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายมากขึ้น
“คู่แข่งที่มาแรงในการทำตลาดท่องเที่ยวตอนนี้ มีทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ โดยเฉพาะเวียดนาม ที่มีการทำวีซ่าฟรีเหมือนกับประเทศไทยด้วย อีกทั้งมีการปรับลดเที่ยวบินเข้ามาไทย แต่เพิ่มเที่ยวบินจากจีนมากขึ้นแทน ทำให้ตลาดจีนไปเที่ยวเวียดนามโตขึ้น 30-40% แม้ยังไม่เท่าไทยเพราะขนาดท่องเที่ยวของไทยโตมากกว่า แต่เนื่องจากจีนเป็นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยมานาน เมื่อมีอะไรที่สดใหม่เกิดขึ้น ก็ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าไป ซึ่งต้องดูในระยะยาว เพราะตลาดระยะใกล้ เราจะได้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวซ้ำเยอะ แสดงว่าเข้ามาเที่ยวไทยแล้วประทับใจ หากไปเที่ยวที่ใหม่แล้วประทับใจหรือชื่นชอบเช่นกัน ก็ต้องรอประเมินว่าจะสามารถปรับตัวเองได้อย่างไรบ้าง” น.ส.ภัทรอนงค์ กล่าว