นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจความพร้อมเปิดบริการรถไฟทางคู่สายเหนือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพวันนี้ (26 พ.ค.) เป็นวันแรก ใช้ระบบทางสะดวกอิเล็กทรอนิกส์ (E-Token) เส้นทางปฐมฤกษ์ ขาขึ้น ขบวนที่ 201 กรุงเทพ(หัวลำโพง)-พิษณุโลก และขาล่อง ขบวน 112 เด่นชัย-กรุงเทพอภิวัฒน์ โดยใช้เส้นทางเดิมแต่คันละราง ไม่ต้องสับหลีก ยังไม่ผ่านสถานีลพบุรี 2 (สถานีแห่งใหม่) ไปจนถึงวันที่ 4 ธ.ค.2568 และเปิดสถานีลพบุรี2ตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค.

นายวีริศ กล่าวต่อว่า ภาพรวมการเปิดใช้งานเรียบร้อยดี ไม่พบปัญหา ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค.นี้ จะปรับเวลาใหม่รถไฟสายเหนือ 5 ขบวน 1. ขบวนรถเร็วที่ 102 เส้นทางเชียงใหม่ – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์2. ขบวนรถธรรมดาที่ 207 เส้นทางกรุงเทพ (หัวลำโพง) – นครสวรรค์3. ขบวนรถธรรมดาที่ 210 เส้นทางบ้านตาคลี – กรุงเทพ (หัวลำโพง)4. ขบวนรถธรรมดาที่ 211 เส้นทางกรุงเทพ (หัวลำโพง) – ตะพานหิน 5. ขบวนรถท้องถิ่นที่ 408 เส้นทางเชียงใหม่ – นครสวรรค์

เมื่อเปิดใช้งานสถานีลพบุรี 2 ขบวนรถธรรมดา รถชานเมือง และรถท้องถิ่น ประมาณ 20 ขบวน ยังคงใช้สถานีลพบุรีเดิม ส่วนขบวนรถด่วน รถเร็ว รถด่วนพิเศษ 22 ขบวน และขบวนรถขนสินค้า จะย้ายไปให้บริการที่สถานีลพบุรี 2 ห่างจากสถานีลพบุรีเดิมประมาณ 9 กม. จะมีรถโดยสารสาธารณะให้บริการรับส่งเชื่อมต่อ 2 สถานีนี้ด้วย ปัจจุบันมีผู้โดยสารสถานีลพบุรีประมาณ600-700 คนต่อวัน คาดว่าในจำนวนนี้จะต้องย้ายไปใช้สถานีลพบุรี 2 ประมาณ 300-400 คน

นายวีริศ กล่าวด้วยว่า ระบบอาณัติสัญญาณจะแล้วเสร็จปลายปีนี้ เมื่อเปิดให้บริการทางคู่สายเหนือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ เต็มระบบ จะช่วยลดเวลาในการเดินทาง โดยขบวนรถด่วน รถเร็ว รถด่วนพิเศษ ลดเวลาลงจากเดิม 15-25 นาที ส่วนขบวนรถธรรมดา ลดลงประมาณ 1 ชม. สาเหตุที่ขบวนรถธรรมดาใช้เวลาลดลงมากกว่า เนื่องจากเดินรถทางเดี่ยวต้องใช้เวลาหยุดนานในการรอหลีกทาง

สำหรับการเชื่อมต่อโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ช่วงปากน้ำโพ – เด่นชัย และช่วงเด่นชัย – เชียงใหม่ อยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการ คาดว่าต้นเดือน มิ.ย.นี้จะส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ พิจารณาได้ หากโครงการทางคู่สายเหนือทั้งระยะที่ 1 และ 2 ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการทั้งหมด

จะทำให้ขบวนรถตรงต่อเวลามากขึ้น ลดระยะเวลาในการเดินทางของเส้นทางสายเหนือได้มาก อาทิ รถเร็ว กรุงเทพ-เชียงใหม่ ใช้ความเร็ว 90 กิโลเมตร(กม.)ต่อชม. จากเดิมประมาณ 14 ชม. 20 นาที ลดเวลาเดินทางได้ 2 ชม. 20 นาที เหลือประมาณ 12 ชม. หากใช้ความเร็วสูงกว่า 90 กม.ต่อชม. ลดเหลือประมาณ 7 ชม.

นายวีริศ ยอมรับว่า รฟท. ทยอยเปิดใช้งานทางคู่หลายเส้นทางแล้ว แต่ยังขาดแคลนจำนวนรถที่มาให้บริการเพิ่มเติม ปัจจุบันเรื่องการจัดหาขบวนรถโดยสารต่างๆ รฟท. เสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) แล้ว หาก ครม.อนุมัติจะใช้เวลาจัดหาประมาณ 2 ปีครึ่งถึง 3 ปี ยังใช้เวลาอีกนานกว่าจะได้รถ ดังนั้นในระหว่างนี้ได้มอบให้ฝ่ายช่างกลเร่งซ่อมแซมขบวนรถ และเร่งพัฒนาปรับปรุงรถที่ได้รับบริจาคมาจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำมาใช้งานได้ระหว่างรอขบวนรถใหม่