พอ จะคลายข้อสงสัยของหลายคน หลังมีข่าวลือ “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางออกนอกประเทศ ไม่ได้ พำนักอยู่ในประเทศไทย แต่ในที่สุดก็มีความชัดเจน หลัง “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯ ในฐานะบุตรสาวคนสุดท้อง ออกมาให้คำยืนยันยังอยู่ในประเทศไทย อยู่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้าเหมือนเดิม ไม่ได้ไปไหนเลย เมื่อถามอีกว่ามีการวิจารณ์กันอีกว่าการไปอังกฤษครั้งนี้เป็นการดูช่องทางให้นายทักษิณ นายกฯ กล่าวว่า “ดูช่องทางให้ ไม่ใช่แล้วค่ะ ถ้าไปไปดูโรงเรียนลูกมากกว่า”

นอกจากนี้ในวันที่ 27 พ.ค. นายทักษิณยังมีคิว ไปปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ยาเสพติดอาชญากรรมข้ามชาติ มุมมองและความท้าทายต่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน” ที่สำนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งอยู่ในความดูแลของ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม ซึ่งถือเป็นการปรากฏตัวครั้งแรกในรอบหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เชื่อว่าสื่อแขนงต่างๆ คงไปเฝ้ารอซักถาม ในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะหลัง “ศาลปกครองสูงสุด” มีคำพิพากษาให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ต้องชดใช้ค่าเสียหาย เป็นเงิน 10,028 ล้านบาท ซึ่งเกิดขึ้นจาก โครงการรับจำนำข้าว รวมถึงการเดินทางไป ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลนายทักษิณ ระหว่างรักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ

แต่ก็มีเสียงวิจารณ์จาก แกนนำพรรคฝ่ายค้าน โดย “นายรังสิมันต์ โรม” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ให้ความเห็นถึงกรณี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ได้เชิญ นายทักษิณไปปาฐกถา เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด ปัญหายาเสพติด เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องเร่งด่วนที่ รัฐบาลต้องรีบจัดการ และสิ่งที่ประชาชนอยากได้ยินคือ รัฐบาลมีแนวทาง จัดการยาเสพติดอย่างไร แต่แทบ ไม่เห็นวิสัยทัศน์ ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เลย ทั้งที่รัฐบาลเพื่อไทย (พท.) อยู่มานานแล้ว
“กลายเป็นว่า พ.ต.อ.ทวี ควรจะให้พื้นที่นายกฯ ในการแสดงวิสัยทัศน์ เพราะเป็นหัวหน้ารัฐบาล แต่กลายเป็นว่าไปเชิญนายทักษิณ อดีตนายกฯ ซึ่งวันนี้สังคมตั้งคำถาม ทำตัว เหมือนเป็นนายกฯ เสียเอง ใช้ลูกเหมือนเป็นนอมินี ได้ชื่อว่ามีตำแหน่งนายกฯ แต่ไม่มีบทบาทบริหารจริง การทำแบบนี้เป็น การด้อยค่านายกฯ ตัวเอง ทำให้ซ้ำเติมปัญหาภาวะผู้นำของคุณแพทองธาร ให้เลวร้ายไปกว่าเดิม ทั้งที่สังคมอยากจะเห็นบทบาทของนายกฯ ในการแก้ปัญหาเรื่องนี้” นายโรมให้ความเห็น

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ยอมรับ การแก้ปัญหายาเสพติด ในอดีตตามแนวทางนายทักษิณ สร้างผลกระทบให้ผู้บริสุทธิ์ และบางคนก็ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือถึงแม้ไม่ได้เป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ ระดับความร้ายแรง ในการปราบปรามจะถึงขั้นสมควรตายหรือไม่ ซึ่งถือเป็นวิธีการที่ ไม่ได้รับการยอมรับ จากนานาประเทศ และแนวทางดังกล่าว ก็ถูกใช้อีกครั้ง ผ่านในการทำสงครามยาเสพติด ในยุค นายโรดริโก ดูเตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ระหว่างปี 2559-2560 ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และสุดท้ายวันนี้ยังถูกควบคุมตัวอยู่ที่ทวีปยุโรป หลังศาลอาญาระหว่างประเทศ ออกหมายจับในข้อหา ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จากสงครามปราบยาเสพติด ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เชื่อว่าความเห็นในประเด็นต่างๆ ที่สื่อหวังตั้งคำถาม หรือมุมมองในการแก้ปัญหายาเสพติด จะมีแนวทางอย่างไร จะใช้ หลักกำปั้นหุ้มเหล็ก เหมือนเดิมหรือไม่ เพราะอาจถูกวิจารณ์เรื่องการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา
สัปดาห์นี้จะมีวาระสำคัญ โดยระหว่างวันที่ 28-31 พ.ค. จะมีการเปิดสมัย ประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณา ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 2569 ซึ่งในทางการเมืองไม่น่าจะมีปัญหา เพราะทุกพรรคร่วมรัฐบาล ต่างยืนยันชัดว่า พร้อมให้การสนับสนุน เนื่องจากมีผลต่อการผลักดันโครงการต่างๆ ที่จะนำมาใช้ในการผลักดันโครงการต่างๆ เพื่อนำมาใช้เป็นผลงาน เพื่อนำไป หาเสียงในการเลือกตั้ง แต่ความสนใจของคนทั่วไปและคอการเมืองอยู่ที่การประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ วันที่ 30 พ.ค. ตั้งแต่เวลา 09.30 น. โดยมีระเบียบวาระการประชุมที่สำคัญ 1.ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ เพื่อทำหน้าที่ ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 1 คน คือ นายณรงค์ กลั่นวารินทร์ 2.ตั้งคณะ กมธ.สามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) จำนวน 2 คน ได้แก่ 1.ศ.ร.ต.อ.สุธรรม เชื้อประกอบกิจ และ 2.นายสราวุธ ทรงศิวิไล

3.ตั้งคณะ กมธ.สามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรง ตำแหน่งอัยการสูงสุด (อสส.) จำนวน 1 คน คือ นายอิทธิพร แก้วทิพย์ 4.ให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จำนวน 3 คน ได้แก่ 1.นายประกอบ ลีนะเปสนันท์ ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา 2.นายเพียรศักดิ์ สมบัติทอง อธิบดีอัยการ สำนักงานคณะกรรมการอัยการ รักษาการในตำแหน่งอธิบดีอัยการภาค 2 3.นายประจวบ ตันตินนท์ อดีตผู้บริหารบริษัทมหาชน และผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
ขณะที่ “นางนันทนา นันทวโรภาส” สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ ที่ประกาศล่าชื่อ 20 สว. (1 ใน 10 ของจำนวน สว.ที่มีอยู่) เพื่อยื่นต่อ “มงคล สุระสัจจะ” ประธานวุฒิสภา ส่งไปยังศาล รธน.ขอให้ สว.ทั้ง 200 คน หยุดปฏิบัติหน้าที่ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเห็นชอบ ผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ ทั้งกระบวนการ การลงมติให้การรับรองผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหา แต่ก็ไม่สามารถลงชื่อได้ จึงพยายาม ใช้กระแสสังคมกดดัน ไม่ให้ สว.ส่วนใหญ่ให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ เนื่องจาก ยังติดคดี “ฮั้วสว.” ขณะที่ สว.ใหญ่ที่มีปัญหาเรื่องคดีความ ก็ยังยืนยันที่จะเดินหน้า เลือกองค์กรอิสระ เพราะเรื่องคดีความแค่อยู่ในขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหา
คงต้องรอดูกว่าจะถึงวันที่ 30 พ.ค. จะมีตัวแปร หรือปัจจัยอะไร ทำให้ สว.ส่วนใหญ่ตัดสินใจ ไม่ลงมติเลือกองค์กรอิสระ หรือเดินหน้าไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะ มีผลต่อการทำงาน ของ สว.ในอนาคต
ด้าน สำนักงานศาลปกครอง เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์เรื่อง ข้อกฎหมายคดีฟ้อง ขอเพิกถอนคำสั่ง ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโครงการรับจำนำข้าวเปลือก โดยระบุว่า ขอชี้แจงข้อกฎหมายในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีหมายเลขแดงที่ อผ.160-163/2568 ระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และ นายอนุสรณ์ อมรฉัตร ผู้ฟ้องคดีที่ 2 รวมถึง นายกฯ กับพวกรวม 9 คน ผู้ถูกฟ้องคดี ดังนี้ 1. คดีในส่วนของผู้ฟ้องคดีที่ 1 นั้น มีมูลเหตุมาจากกรณีที่มีคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค. 2559 ให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นเงิน 35,717,273,028.23 บาท อันเป็นคำสั่งทางปกครองที่ให้ชำระเงิน ซึ่ง หากผู้ฟ้องคดีที่ 1 ไม่ชำระ กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีอำนาจ ใช้มาตรการบังคับทางปกครอง โดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ 1 และขายทอดตลาดเพื่อชำระเงินตามคำสั่งได้โดยไม่จำต้องฟ้องคดีต่อศาล
ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า คำสั่งพิพาท ไม่ชอบด้วยกฎหมาย บางส่วน จึงมีคำพิพากษา เพิกถอนคำสั่งพิพาท เฉพาะส่วนที่ให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหม ทดแทน เกินกว่าจำนวน 10,028,861,880.83 บาท โดยศาลปกครองสูงสุด ไม่ได้มีคำพิพากษา และ ออกคำบังคับ ให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 9 แต่อย่างใด ซึ่งนี้ศาลปกครองสูงสุดนั่งพิจารณาคดี เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2566 โดยตุลาการศาลปกครองสูงสุด ที่นั่งพิจารณา ได้ลงลายมือชื่อ ในร่างคำพิพากษาครบทั้ง 5 คนเรียบร้อยแล้ว ส่วนตุลาการในองค์คณะ 2 คนที่พ้นจากราชการไปแล้ว จึงไม่อาจลงลายมือชื่อในคำพิพากษาได้ ซึ่ง ประธานศาลปกครองสูงสุดได้มีบันทึก ไว้ในคำพิพากษาแล้ว

ด้าน “น.ส.สายทิพย์ สุคติพันธ์” ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ในฐานะกรรมการประชาพันธ์ ศาลปกครอง กล่าวถึงกรณีที่ศาลออกมาชี้แจง 3 ประเด็นที่มี การตัดสินคดีจำนำข้าว และการระบายข้าวว่า การออกมาชี้แจงนี้ เพื่อให้สังคมประชาชนเข้าใจ กระบวนการพิจารณาของศาลว่า เป็นการพิจารณาเฉพาะประเด็นคำสั่ง ที่เป็นข้อพิพาทระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับ นายกฯ กับพวกทั้ง 9 เท่านั้น เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นเงิน 35,717,273,028.23 บาท เฉพาะส่วนที่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่า จำนวน 10,028,861,880.83 บาท แล้ว บทบาทหน้าที่ของศาลปกครอง ถือว่ายุติแล้ว ส่วนการดำเนินการใดๆ จากนี้ไป เป็นอำนาจหน้าที่ ของนายกฯ รมว.คลัง รมช.คลัง ปลัดกระทรวงการคลัง สำนักนายกฯ กระทรวงการคลัง กรมบังคับคดี อธิบดีกรมบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่ง กทม. ต้องไปดำเนินการออกคำสั่งใหม่ และปฏิบัติ ให้ถูกต้องตามคำพิพากษา

นั่นหมายความว่า เผือกร้อนอยู่มือ “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯ ต้องเป็นผู้ออกคำสั่ง ให้ “น.ส.ยิ่งลักษณ์” ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 10,028,861,880.83 บาท ซึ่งถ้าไม่ดำเนินการ อาจมีปัญหาตามมา มีคนไปร้องเรื่องการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่