โครงการจำนำข้าว กลับมาเป็นประเด็นร้อนในสื่อสังคมออนไลน์อีกครั้ง ซึ่งในส่วนประเด็นทางการเมือง ก็ต้องว่าไปตามกฎหมาย แต่ในส่วนภาคประชาชนทั่วไป ก็มีความกังวลกันถึงประเด็นข้าวเก่าเก็บอายุ 10 ปี ที่รัฐบาลนำออกมาประมูลเมื่อปีก่อน จะถูกนำมาขายผสมทำข้าวถุงให้คนไทยกินหรือไม่ เรามาหาคำตอบกัน
ปัจจุบันในวงการข้าว มีการแบ่งประเภทตามอายุของข้าว 3 รูปแบบ
- ข้าวใหม่ คือข้าวที่มีอายุ 0-6 เดือน
- ข้าวกลางปี อายุ 6-12 เดือน
- ข้าวเก่า อายุตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป ดังนั้น ข้าวประมูลอายุ 10 ปี จากโครงการรับจำนำ จึงนับเป็นข้าวเก่า
แต่ถ้าถามว่า คนไทยมีโอกาสที่จะโดนนำข้าวเก่าอายุ 10 ปี เพื่อบริโภคได้หรือไม่นั้น
- คำตอบคือ ในการประมูลข้าวรัฐบาลรอบดังกล่าว ส่วนใหญ่พ่อค้าจะมีการนำไปส่งออกขายในต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดแอฟริกา ที่มีความต้องการบริโภคข้าวเกรดนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ข้าวเหล่านี้ก็อาจนำมาขายในประเทศได้ เพราะเงื่อนไขการประมูลไม่ได้ระบุว่า ใช้สำหรับเพื่อส่งออกเท่านั้น
ถามต่อว่า ข้าวสารถุงจะมีการนำข้าวเก่ามาผสมได้หรือไม่
- คำตอบคือ ปัจจุบันการทำข้าวสารถุงหลายชนิด ได้มีการนำข้าวอื่นมาผสมอยู่แล้ว เพราะหากสังเกตบริเวณข้างถุง จะระบุว่าเป็นข้าว 5% ข้าว 100% ดังนั้น ผู้ผลิตจะมีการนำข้าวเก่ามาผสมกับข้าวใหม่ ในสัดส่วนที่กำหนดและนำมาออกมาจำหน่าย
ยกตัวอย่าง
ข้าว 5% หมายถึง ข้าวนั้นมีข้าวสายพันธุ์ที่มีสภาพสมบูรณ์ เต็มเมล็ดอยู่ 95% และสัดส่วนอีก 5% จะเป็นข้าวหัก ข้าวเก่า หรือข้าวชนิดอื่นผสมอยู่ ซึ่งโดยธรรมชาติข้าว 5% จะมีราคาถูกกว่าข้าว 100% เพราะข้าว 100% เช่น ข้าวหอมมะลิแท้ 100% หมายถึงว่าทั้งถุงเป็นข้าวหอมมะลิเมล็ดเต็มทั้งหมด ซึ่งราคาข้าว 100% จะแพงกว่าข้าวที่มีข้าวอื่นมาผสมอยู่
วิธีสังเกตข้าวเก่า และข้าวใหม่
ข้าวเก่า คือข้าวที่เก็บไว้นานค้างปี แล้วจึงค่อยนำมาขัดสี ลักษณะเมล็ดข้าวจะมีสีขาวขุ่น มีรอยแตกหักบ้างเล็กน้อย เมื่อนำไปซาวกับน้ำ น้ำจะขาวขุ่น มีรอยแตกหัก หุงจะขึ้นหม้อดี เมล็ดข้าวไม่เกาะติดกัน เพราะมียางข้าวน้อยและจะแข็งกว่าข้าวใหม่
ข้าวใหม่ คือ ข้าวที่เพิ่งเก็บเกี่ยวมาไม่นาน แล้วนำมาขัดสีเมล็ดข้าว จึงมีสีขาวใสนวล จมูกข้าวยังติดกับเมล็ดข้าวอยู่ ข้าวใหม่ใช้มือกดจะหักได้ง่าย กลิ่นหอม เวลานำไปซาวข้าว น้ำจะมีสีใส หุงไม่ค่อยขึ้นหม้อ และเมล็ดข้าวเกาะติดกันเป็นก้อนและค่อนข้างแฉะ เพราะมียางข้าวมาก แต่มีรสชาติหวาน มีกลิ่นหอมกว่าข้าวเก่า