ห่วงโซ่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการผลิตอาหารทะเลมากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งโลกอยู่ในเอเชีย และห่วงโซ่ดังกล่าวกำลังเผชิญความเสี่ยงจากมลพิษ การทำประมงเกินขนาด (overfishing) ที่เพิ่มมากขึ้น และการทำลายป่าไม้อันเป็นผลจากความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์น้ำที่เพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวเศรษฐกิจของประเทศไทยพึ่งพาทรัพยากรทางทะเลไทยมีสัดส่วนประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งสูงเป็นอันดับสองในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และเป็นแหล่งเลี้ยงชีพของประชากรเกือบ 1 ใน 4 ของ 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลของไทย ด้วยอุตสาหกรรมหลักอย่างท่าเรือ การเดินเรือ และการท่องเที่ยวชายฝั่งที่มีการพึ่งพาทรัพยากรทางทะเล ดังนั้นการบริหารจัดการเพื่อดูแลท้องทะเลอย่างยั่งยืนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาอนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศ และการบรรลุเป้าหมายการก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2580

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือ เอดีบี ได้ลงนาม กับ บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)ในข้อตกลงเงินกู้เพื่อความยั่งยืนทางทะเล (Blue Financing) มูลค่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐบริษัท เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนในการเพาะเลี้ยงกุ้งในประเทศไทย ซึ่งการลงทุนในรูปแบบเงินกู้เพื่อความยั่งยืนทางทะเลนั้น มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรน้ำของโลกอย่างยั่งยืนและการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางน้ำ เช่น มหาสมุทร แม่น้ำ และทะเล

แพ็กเกจการจัดหาเงินทุนดังกล่าว ซึ่งนำโดยเอดีบีในฐานะผู้จัดการ ประกอบด้วยเงินทุนจำนวน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ จากทุนหมุนเวียนปกติของเอดีบี และเงินกู้ร่วมแบบ B Loan จำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ จากธนาคาร Oversea-Chinese Banking Corporation Limited, ธนาคาร HSBC, ธนาคาร MUFG (สิงคโปร์), ธนาคาร OCBC, ธนาคาร Sumitomo Mitsui (สิงคโปร์), และธนาคาร UOB ซึ่งการร่วมทุนกันครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของเอดีบีที่ช่วยระดมทรัพยากรทางการเงินจากภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมห่วงโซ่มูลค่าของกุ้งอย่างยั่งยืน โดยที่บริษัท ไทยยูเนี่ยนฯ ได้ร่วมมือกับเกษตรกรในการปรับปรุงวิธีการเลี้ยง เพื่อเพิ่มความทนทานของฟาร์มต่อโรคและสภาพภูมิอากาศ เช่น คลื่นความร้อน

เงินทุนครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนความต้องการทุนหมุนเวียนของบริษัท ไทยยูเนี่ยนฯ ในการจัดซื้อ การแปรรูป และการส่งออกกุ้งที่ยั่งยืน ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพื่อการส่งเสริมในด้านต่างๆ เช่น การฝึกอบรม การสนับสนุนด้านการรับรอง การวิจัยและพัฒนา และโครงการนำร่องด้านความยั่งยืน ซึ่งเงินทุนนี้ยังมาพร้อมกับเงินช่วยเหลือด้านวิชาการที่ใช้ฝึกอบรมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในปรับตัวด้านต่างๆ และความรู้ทางการเงินที่จำเป็นอีกด้วย

ทั้งนี้การเพาะเลี้ยงกุ้งจะถูกพิจารณาว่ายั่งยืนต่อเมื่อได้รับการรับรองภายใต้มาตรฐานที่ได้รับ การยอมรับจาก Global Sustainable Seafood Initiative เช่น มาตรฐานของ Aquaculture Stewardship Council หรือ Best Aquaculture Practices หรือมาจากโครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เชื่อถือได้ โดยทั่วโลกนั้นมีเพียงร้อยละ 11.5 ของการเพาะเลี้ยงกุ้งที่ได้รับการรับรองจาก Aquaculture Stewardship Council หรือ Best Aquaculture Practices ในปี 2566

านุช เมธา ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทนเอดีบีประจำประเทศไทย กล่าวว่า เงินกู้ดังกล่าวนี้นับเป็นเงินกู้ภาคเอกชนครั้งแรกที่ให้กับภาคธุรกิจการเกษตรในประเทศไทยและมุ่งหวังที่จะทำให้ห่วงโซ่การเพาะเลี้ยงกุ้งมีความยืดหยุ่นและยั่งยืนมากขึ้น เงินกู้เพื่อความยั่งยืนทางทะเลถูกพัฒนาภายใต้กรอบการเงินสีเขียวและสีฟ้าของบริษัทไทยยูเนี่ยนฯ (Thai Union’s Blue and Green Finance Framework) ซึ่งได้รับการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญของบริษัท ดีเอ็นวี (ประเทศไทย) จำกัด ตามมาตรฐานสากล โดยกรอบการเงินดังกล่าวได้รับการพัฒนาโดยความช่วยเหลือทางวิชาการของเอดีบีภายใต้มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเซียภายในกรอบการประชุม ASEAN + 3 (ASEAN+3 Asian Bond Markets Initiative)

เอดีบีเป็นธนาคารพัฒนาระหว่างประเทศชั้นนำที่มุ่งสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน ครอบคลุม และยืดหยุ่นทั่วเอเชียและแปซิฟิก โดยทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกและพันธมิตรเพื่อแก้ไขปัญหาท้าทายที่ซับซ้อน เอดีบีใช้นวัตกรรมทางการเงินและความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คน สร้างโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูง และปกป้องโลกเราที่อาศัยอยู่ เอดีบีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 โดยมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 68 ประเทศ โดย 50 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาค