กรณีปมปัญหาแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ร้อนแรงขึ้นมาในพริบตา เมื่อช่วงเช้าตรู่วันที่ 28 พ.ค.68 พลันที่เกิดเหตุการณ์ สถานการณ์บริเวณช่องบก จ.อุบลราชธานี ที่เสียงปืนสนั่นหวั่นไหว เกิดเหตุปะทะกันระหว่างทหารไทย และทหารกัมพูชา ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวที่อยู่ในเขตที่ยังไม่ได้มีการแบ่งเขตแดนอย่างเป็นทางการ ระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา และเป็นพื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายมีการอ้างสิทธิทับซ้อน
ด่วน! ทหารไทย-กัมพูชา ปะทะเดือดยิงสนั่นชายแดนช่องบกแต่เช้า ล่าสุดเจรจาหยุดยิงแล้ว
ลำดับเหตุการณ์สมรภูมิเดือด
-เวลา 05.30 น. หน่วยเฉพาะกิจที่ 1 กองกำลังสุรนารี ตรวจพบการเคลื่อนกำลังและการจัดเตรียมพื้นที่ของฝ่ายกัมพูชาในลักษณะการตั้งจุดตรึงกำลังในพื้นที่ที่ไทยอ้างสิทธิ ซึ่งอาจขัดต่อข้อตกลงที่มีอยู่
-เวลา 05.40 น. ฝ่ายไทยจึงได้จัดกำลังเข้าตรวจสอบ โดยจัดชุดประสานงานเพื่อเข้าพูดคุยเจรจาตามแนวทางการปฏิบัติที่เคยกระทำมา
-เวลา 05.45 น. กำลังบางส่วนระวังเหตุของทหารกัมพูชาได้เข้าใจผิด และเริ่มใช้อาวุธ ฝ่ายไทยจึงใช้อาวุธตอบโต้กลับไป โดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที

-เวลา 05.55 น. พล.ต.ทล โซะวัน รองผู้บัญชาการกองพลสนับสนุนที่ 3 ฝ่ายกัมพูชา โทรศัพท์ประสานกับ พ.อ.บุญเสริม บุญบำรุง รองผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายยุติ ก่อนตกลงหยุดยิงและตรึงกำลังบริเวณจุดปะทะ
-ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการเจรจาผ่านกลไกทวิภาคีตามกรอบที่มีอยู่ เพื่อจัดการกรณีพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนด้วยวิถีทางสันติ และวางแนวปฏิบัติร่วมกันในอนาคต
-พล.อ.เตีย เซ็ยฮา รมว.กลาโหมกัมพูชา โทรศัพท์เจรจา พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ขอให้ทั้งสองฝ่ายลดการเผชิญหน้า
-พล.ท.บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 สั่งการให้ทหารไทยตรึงกำลังในพื้นที่ หากทหารกัมพูชาไม่ถอยออก ไทยก็ไม่ถอยเช่นกัน
-ทหารไทยก็ยังตรึงกำลังอยู่ในพื้นที่ เช่นเดียวกับกัมพูชา
‘แม่ทัพภาค 2’ ลั่นปกป้องอธิปไตยเต็มที่ หากกัมพูชาไม่ถอนกำลัง ไม่ถอย
เจาะลึก ‘ช่องบกเดือด’ ปลุกทหารไทยลุกขึ้นสู้
สถานการณ์ช่องบก จ.อุบลราชธานี เดือดปะทุ ต้องยอมรับว่ามีส่วนมาจากเหตุการณ์ที่ส่งสัญญาณปัญหาชายแดน เมื่อวันที่ 13 ก.พ.68 เวลาประมาณ 12.30 น. เมื่อทหารกัมพูชาจำนวนหนึ่งขึ้นมาบนพื้นที่ ปราสาทตาเมือนธม อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ชายแดนไทยติดกับกัมพูชา โดยมีการโต้เถียงจนเกือบทำให้เกิดการปะทะกัน และแสดงท่าทีไม่พอใจต่อทหารไทย พร้อมกับร้องเพลงชาติกัมพูชา ซึ่งนำไปสู่การโต้เถียงกันระหว่างทั้งสองฝ่าย ตามที่ปรากฏในคลิปวิดีโอ ผู้บังคับบัญชาฝ่ายกัมพูชา ได้กล่าวทั้งภาษาไทยและภาษาเขมรโดยมีใจความว่า ห้ามไม่ให้ทหารไทยเข้ามาเหยียบพื้นที่นี้แม้แต่ก้าวเดียว ถ้าจะยิงก็ยิงเลย ด้านทหารไทยได้ตอบกลับด้วยเหตุผลว่า ผมมายืนตรงนี้เพราะได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์จบลงที่การแยกย้าย
จากนั้นวันที่ 17 ก.พ.68 พล.ท.บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 ชี้แจงว่า ปราสาทตาเมือนธมอยู่ในดินแดนของไทย อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวยังมีบางส่วนที่การปักปันเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชายังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งไทยได้อนุโลมให้ชาวกัมพูชาขึ้นมาสักการะบูชาได้ แต่ต้องไม่มีการแสดงออกถึงสัญลักษณ์ใด แต่การร้องเพลงชาติในพื้นที่ดังกล่าว เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ และฝ่ายไทยได้เข้าไปตักเตือน เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ต่อมาวันที่ 2 พ.ค.68 ภายหลังการประชุมคณะกรรมการิชาย แดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (GBC) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และ พล.อ.เตีย เซ็ยฮา รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมกัมพูชา ได้หารือเรื่องความขัดแย้งชายแดน โดยได้ข้อสรุปลดความขัดแย้ง ลดการเผชิญหน้า ป้องกันการปะทะ เช่น ช่องบก และ ช่องอาม้า จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นอีกพื้นที่ที่ยังไม่ชัดเจนอยู่ในระหว่างการปักปันเขตแดน ตามข้อตกลงระหว่างไทย-กัมพูชา ให้กำลังทั้งสองฝ่ายเว้นระยะห่าง จากพื้นที่ดังกล่าว 5 กิโลเมตร
ขณะที่ พล.ท.บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 ยืนยันว่าทหารไทยทำหน้าที่รักษาอธิปไตยตามแผนที่ 1:50,000 ซึ่งในพื้นที่ทับซ้อนของทั้งสองประเทศ จะมีการออกลาดตระเวนอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้อีกฝ่ายล้ำเข้ามา ซึ่งทุกฝ่ายต้องยึดตามเอ็มโอยู 2543
ในเวลาต่อมา วันที่ 17 พ.ค.68 กองกำลังสุรนารี ได้ไปตรวจพบทหารกัมพูชา เข้ามายึด เนิน745 ช่องบก อ.น้ำยืน อุบลราชธานี โดยขุดคูเลต เตรียมตั้งฐานที่มั่น พร้อมเสริมกำลังเกือบร้อยนาย อาวุธครบมือ ส่งผลสถานการณ์ชายแดนฝั่งช่องบก ตึงเครียดพร้อมปะทุขึ้นมาในทันที

ทำให้วันที่ 18 พ.ค.68 พล.ท.บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 ได้สั่งให้กองกำลังสุรนารีได้เข้าไปพูดคุยกับทหารกัมพูชา จนกระทั่งมีข้อสรุปได้ยกเลิกการขุดคูเลตดังกล่าว และตกลงถอนกำลังออกจากพื้นที่ทับซ้อนทั้งสองฝ่าย ก่อนจะนัดมาพบกันตามห้วงเวลาโดยไม่มีอาวุธ รวมถึงได้พูดคุยเรื่องของการลาดตระเวนร่วมกัน
ขณะเดียวกัน กองทัพภาคที่ 2 ได้เผยภาพทหารไทย และทหารกัมพูชาล้อมวงกินข้าว ชนแก้วหลังเจรจาให้ทหารกัมพูชาหยุดขุดคูเลตตั้งฐานในพื้นที่ เนิน 745 พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน ซึ่งผลเจรจาตกลง ทหารไทย และทหารกัมพูชา ยอมถอยทั้ง 2 ฝ่าย ให้เป็นนัดลาดตระเวน พบปะแบบปลอดอาวุธ
อย่างไรก็ตามสถานการณ์กลับมาคุกรุ่นและแตกหัก ในเช้าตรู่วันที่ 28 พ.ค.68 เมื่อฝ่ายไทยตรวจพบว่ากัมพูชาไม่ทำตามข้อตกลง โดยพบว่ามีการเคลื่อนกำลังและการจัดเตรียมพื้นที่ของฝ่ายกัมพูชาในลักษณะการตั้งจุดตรึงกำลังในพื้นที่ที่ไทยอ้างสิทธิ ซึ่งอาจขัดต่อข้อตกลงที่มีอยู่ ฝ่ายไทยจึงได้จัดกำลังเข้าตรวจสอบ และเกิดเหตุปะทะขึ้น ทั้งนี้กำลังพลของไทยมาจากหน่วยเฉพาะกิจที่ 1 กองกำลังสุรนารี ซึ่งปฏิบัติภารกิจตามปกติในการประสานงานและเฝ้าระวังพื้นที่ โดยไม่มีเจตนาแสดงอำนาจเหนือดินแดนหรือยั่วยุใด ๆ ต่อประเทศเพื่อนบ้านและยุติลงภายในเวลาอันสั้น โดยไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ
เปิดประวัติ พล.ท.บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 ผู้ปกป้องอธิปไตยชายแดนไทย-กัมพูชา
รู้จัก ‘ช่องบก’ สมรภูมิรบในอดีตมิเคยลืม
ในอดีตพื้นที่ช่องบก อ.น้ำยืน อุบลราชธานี เคยเป็นสมรภูมิรบ ระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพเวียดนาม ซึ่งควบคุมพื้นที่กัมพูชา(ในขณะนั้น) เป็นสมรภูมิที่ทหารไทยสู้ถวายหัว จนประสบความสำเร็จ ขับไล่กองกำลังเวียดนามออกไปจากแผ่นดินไทยได้ รักษาแผ่นดินไทยไว้ให้ลูกหลานจนทุกวันนี้ (อ้างอิง – ‘ช่องบก’ บทบันทึกวีรกรรมทหารไทย) สมรภูมิเดือดครั้งนั้น มีมูลเหตุเกี่ยวพันมาจากจีนมีปัญหากับสหภาพโซเวียต(ขณะนั้น) การสู้รบเกิดขึ้นในช่วงเดือน ม.ค.2528-ธ.ค.2530 โดยทางเวียดนามได้รุกล้ำเข้ามาในพรมแดนไทย ซึ่งสุดท้ายกองทัพไทยสามารถขับไล่ทหารเวียดนามกลับไปได้ อย่างไรก็ตามการสู้รบครั้งนั้น เกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ มีทหารเสียชีวิต 109 นาย และบาดเจ็บ 664 นาย

และมาถึงวันนี้ การปะทะระหว่างทหารไทย และ กัมพูชา ย่อมหลีกหนีความจริงไม่ได้ว่า ปมปัญหามาจากความตึงเครียดเรื่องการแบ่งเขตแดนอย่างเป็นทางการ ระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา ในพื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายมีการอ้างสิทธิทับซ้อน ซึ่งในตอนจบจะเป็นอย่างไร และความจริงใครจะเป็นผู้รุกรานอธิปไตย อาจต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะมีบทสรุป ส่วนสถานการณ์การปะทะจะกลับมาปะทุอีกหรือไม่ ต้องติดตามกันให้ดี.
แม่ทัพภาค 2 ฮึ่มภาพทหารกัมพูชารุกล้ำขุดคูเลตเนินช่องบกของจริง แต่เจรจาจบถอนกำลังแล้ว