สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ว่า ศาลการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ ซึ่งตั้งอยู่ที่ย่านแมนฮัตตัน ในนครนิวยอร์ก มีคำพิพากษาฉุกเฉิน ว่ารัฐธรรมนูญของประเทศ ไม่ได้มอบอำนาจฉุกเฉินหรืออำนาจพิเศษ ให้ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ สามารถกำหนดกำแพงภาษีกับแทบทุกประเทศและดินแดนบนโลก “โดยอ้างสถานการณ์ฉุกเฉินทางเศรษฐกิจ”
คำพิพากษาของศาลอธิบายว่า สภาคองเกรสเท่านั้น ซึ่งมีอำนาจปรับเปลี่ยน ควบคุม และกำหนดกฎเกณฑ์ด้านการพาณิชย์กับนานาประเทศ การอ้างอำนาจตามกฎหมายอำนาจฉุกเฉินทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (ไออีอีพีเอ) ฉบับปี 2520 เป็นการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตของประธานาธิบดี
The bulk of President Trump's tariffs have reached a standstill after a three-judge panel in a Manhattan court ruled to bring them to a halt https://t.co/oJfzg1VKO0
— CNN Breaking News (@cnnbrk) May 28, 2025
ทั้งนี้ ทรัมป์ประกาศมาตรการภาษีต่างตอบแทน กับคู่ค้าแทบทุกประเทศและดินแดนบนโลก เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยอ้างว่า การค้าของสหรัฐกำลังเผชิญกับ “ภัยคุกคามที่ผิดปกติและแทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” แต่ศาลการค้าระหว่างประเทศมีมติว่า “ไม่เข้าข่าย” และสั่งให้ทำเนียบขาวต้องระงับการใช้มาตรการดังกล่าวภายใน 10 วัน นับตั้งแต่ศาลมีคำพิพากษา
ด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ยังไม่มีความเห็นอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาล ซึ่งศูนย์ยุติธรรมเสรี ที่เป็นองค์กรอิสระ เป็นผู้ยื่นฟ้องในนามของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก 5 แห่งของสหรัฐ ที่นำเข้าสินค้าจากประเทศซึ่งเผชิญกับอัตราภาษีต่างตอบแทน อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวประกาศการยื่นอุทธรณ์แล้ว.
เครดิตภาพ : AFP