เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 วงเงิน 3.78 ล้านล้านบาท วาระแรก ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 โดยนายชยพล สท้อนดี สส. กทม. พรรคประชาชน อภิปรายงบประมาณกระทรวงกลาโหมว่า งบฯ ปี 69 กระทรวงกลาโหมได้งบฯรวม 2.4แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบฯ ปี 68 จำนวน 4,700 ล้านบาทเศษ เป็นงบฯจัดซื้ออาวุธเพิ่มขึ้น 3,700 ล้านบาท งบฯกว่าครึ่งของกระทรวงกลาโหม ไปอยู่ที่เงินเดือนและงบฯบุคลากรของกองทัพ รวมกันมากกว่า 2 เท่าของงบฯการจัดซื้อยุทโธปกรณ์เพื่อพัฒนากองทัพ สวนทางกับนโยบายที่รัฐบาลนี้ประกาศไว้ว่าจะลดกำลังพล ซึ่งเข้าสู่ปีที่3 ที่จะพัฒนาให้กองทัพทันสมัย เป็นกองทัพที่เล็กแต่มีประสิทธิภาพ มาตรการเออร์ลี่รีไทร์ไม่จูงใจ จึงมีผู้เออร์ลี่เพียง 98 คน
นายชยพล กล่าวต่อว่า ส่วนขั้นตอนในการจัดซื้ออาวุธ ก็ผิดพลาดในการวางแผน ทำให้เกิดปัญหา เช่น กองทัพเรือมีโครงการต้องการใช้เรือฟริเกต 8 ลำ แต่ปัจจุบันมีใช้เพียง 4 ลำ และกำลังจะปลดประจำการภายใน 4 ปีอีก 1 ลำ คือเรือหลวงรัตนโกสินทร์ จึงทำให้เรือที่มีอยู่ถูกใช้งานอย่างหนัก คือเรือหลวงภูมิพลที่เพิ่งใช้ไม่ถึง 10 ปี ไม่ได้รับการซ่อมบำรุงตามวงรอบ จนทำให้เครื่องยนต์เรือเสียขณะปฏิบัติที่ประเทศออสเตรเลีย จนต้องมีการเปลี่ยนเครื่องยนต์เรือมูลค่า 240 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าซ่อมบำรุงที่ไม่รู้ว่าจะเป็นวงเงินเท่าไร แล้วจะคาดหวังอะไรจากสมรรถภาพของกองทัพเรือไทย เพราะหลักการซื้ออาวุธต้องมีการวางแผนการซื้อตามความจำเป็น และต้องซื้อให้เพียงพอกับการใช้ หากซื้อจำนวนมาก จะมีอำนาจในการต่อรอง แต่เราสั่งต่อเรือทีละลำจึงได้ในราคาสูง ประสบปัญหาเรือไม่พอใช้
“ยังไม่รวมถึงยุทโธปกรณ์ชิ้นเล็กๆ เช่น ปืนที่ประจำการที่ใช้ในกองทัพบก และทีโออาร์ที่ไม่โปร่งใส ซ้ำกองทัพไทยไม่เคยซื้ออาวุธจากบริษัทของคนไทย เกิดการกีดกันผู้ประกอบการไทย ผมไม่ติดใจกรณีการจัดซื้อปืนเรดาร์ อุปกรณ์สื่อสาร หรือเสื้อเกราะกันกระสุน แต่ติดใจการจัดซื้ออุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของกองทัพ เช่น เรือท้องแบน ยางรถยนต์ ที่ไทยสามารถผลิตได้เอง แต่กองทัพบกกลับเลือกที่จะจัดตั้งโรงงานผลิตเอง 13 แห่งทั่วประเทศ ปิดโอกาสผู้ประกอบการ กระทบการสนับสนุนเศรษฐกิจภายในประเทศ“ นายชยพล กล่าว
นายชยพล กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงในคณะกรรมาธิการทหาร และคณะกรรมาธิการความมั่นคง สภาฯพบว่ามีงบประมาณที่เราพิจารณาอยู่ในขณะนี้ หรืองบฯไอโอ ภาค 5 ที่ใช้ไปเพื่อคุกคามคนในประเทศ ที่วันนี้ยังไร้คำตอบจากรัฐบาล และรมว.กลาโหม ที่ไม่รู้ว่า งบฯเหล่านี้ถูกตั้งไว้และนำไปใช้จ่ายอะไรเพราะไม่มีรายละเอียด เป็นขบวนการบั่นทอนประชาธิปไตย หน่วยงานนอกกระทรวงกลาโหมเป็นผู้บงการ ควบคุมการทำงานของกองทัพอีกที
นายชยพล กล่าวต่อว่า ยิ่งสะท้อนแนวคิดจากคำให้สัมภาษณ์ของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม กรณีค่าโง่เรือดำน้ำ 1.6 หมื่นล้านบาทที่จ่ายไปแล้ววันนี้ยังไม่มีเครื่องยนต์เรือ ทางยุโรปก็ไม่ขายเครื่องยนต์ให้เรา และไม่รู้ว่ารัฐบาลจีนจะคืนเงินให้เราหรือไม่ แต่นายภูมิธรรม กลับยอมรับว่า ไม่มีเงินซื้อเรือฟริเกตแล้ว เพราะต้องกันเงิน รอจ่ายค่าเรือดำน้ำเพิ่มอีก ทั้งที่ไทยควรจะฟ้องเอาเงินคืนจากรัฐบาลจีนพร้อมดอกเบี้ย รวมถึงงบฯ ราชการลับของเหล่าทัพ ที่นายกฯ รมว.กลาโหมก็ไม่รู้ว่ากองทัพนำไปใช้อะไร กลายเป็นรัฐพันลึกอย่างแท้จริง เพราะถามใครก็ตอบไม่ได้ ทั้งสำนักงบฯกรมบัญชีกลาง หรือสตง. แล้วแบบนี้เราจะถามหาความรับผิดชอบในการบริหารจากใครได้อีก ตนจึงขอเสนอปรับลดงบฯกองทัพในปี 69 รวม 1.4 หมื่นล้านบาท หรือลด 50% คือ 7 พันล้านบาท เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ รู้แค่ชื่อโครงการ สะท้อนถึงความไม่โปร่งใสของการใช้งบประมาณของกองทัพว่า เป็นไปเพื่อความมั่นคงของชาติ หรือเพื่อความมั่นคงของใคร
นายชยพล กล่าวต่อไปว่า ไม่ใช่ว่าประเทศไทย ไม่มีเงินมากพอ แต่เราขาดนายกรัฐมนตรีที่มีทิศทาง ถ้าเราเลือกลงทุนอย่างฉลาดการลงทุนรัฐ 1 บาท มันสามารถมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่านั้นได้ เพราะนายกรัฐมนตรีของเราไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนทำให้งบประมาณการลงทุนของภาครัฐต้องสะเปะสะปะ ไร้ซึ่งจุดหมายปลายทางเช่นนี้ ขณะที่ รมว.กลาโหม ก็คิดแต่เรื่องการเมือง กลัวขึ้นสมองว่า ถ้าตั้งงบก้อนใหญ่เกินไป จะต้องเจอกับแรงเสียดทานทางการเมือง เดี๋ยวฝ่ายค้านด่า ส่วน พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกลาโหม ต้นเหตุของความเละเทะทั้งหมด เกิดจาก พ.ร.บ.ดังกล่าวในมาตรา 43 ที่ทำให้นโยบายจัดสรรงบประมาณต้องเป็นไปตามมติของสภากลาโหมที่เต็มไปด้วยนายพลมากกว่า 20 คน นั่งรุม รมว. และ รมช.ที่มาจากพรรคเพื่อไทย ไม่มีทางที่การจัดสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหมจะเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“เพราะข้อเท็จจริงคือนายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรัฐมนตรีที่อ่อนแอ และกองทัพเลยอยู่ในจุดที่อ่อนตามการจัดสรรงบประมาณเป็นไปเพื่อประสิทธิภาพ แต่กลับเป็นไปตามระบบเค้ก คือกองทัพบก 2 ส่วน กองทัพอากาศ 1 ส่วน กองทัพเรือ 1 ส่วน แบ่งเค้กแล้วแยกไปประกอบเมนูอาหารตามใจของตัวเอง ซึ่งต้นเหตุที่ยังแก้ไขไม่ได้ เป็นเพราะกฎหมายเศรษฐกิจที่ถูกยื่นเข้าสภาชุดนี้โดยพรรคก้าวไกล(ขณะนั้น) พอรัฐบาลเองที่มีทั้งร่าง ครม. ของพรรคเพื่อไทย เตรียมประกบเรียบร้อย แต่กลับถูกไอ้โม่งสั่งให้ชักกฎหมายออก นี่คือต้นเหตุของความอ่อนแอ ทั้งความอ่อนแอของ รมว.กลาโหม ที่มีอำนาจในการบริหาร และความอ่อนแอของกองทัพ ที่ไม่สามารถทำให้มีประสิทธิภาพได้แล้วกฎหมายนี้ยังดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน เพราะรัฐบาลเพื่อไทยที่ส่งความกลัวถึงกองทัพอย่างชัดเจนด้วยเหตุผลนี้ จึงไม่เชื่อว่า รัฐบาลนี้จะจัดสรรงบของกองทัพ จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพได้“ นายชยพล กล่าว
จากนั้น พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ใช้สิทธิชี้แจงทันทีว่า งบฯของกระทรวงกลาโหม แม้จะดูมีเพิ่มขึ้น แต่หากวัดสัดส่วนกับงบประมาณของประเทศ จะพบว่าลดลง ส่วนการรักษาเป็นความลับ ยืนยันว่าในระเบียบการรักษาความปลอดภัยบุคคล เอกสาร และสถานที่ หากเอกสารส่วนใดมีชั้นความลับ ทั้งฉบับก็ต้องเป็นลับทั้งหมด ส่วนเรื่องบุคลากร กระทรวงกลาโหมได้ลดกำลังพลมาโดยตลอด และมีเป้าหมายจะปรับนายทหารชั้นนายพล ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ลดลง 378 อัตรา ในปี 2570 ซึ่ง ขณะนี้ปรับลดไปแล้ว 308 อัตรา ทั้งนี้ก็ระทรวงกลาโหมควบคุมยอดการผลิตกำลังพลจากโรงเรียนนักเรียนนายร้อย ลดมาตามลำดับตั้งแต่ปี 2530 และจะไม่มีการเพิ่มจำนวนนักเรียนนายร้อย
“ส่วนการปรับลดกำลังพลประจำการ ยืนยันว่า กระทรวงกลาโหม จะปรับลดลงร้อยละ 5 ในปี 2570 ให้เหลือ 12,000 อัตรา ปัจจุบันปีนี้ปรับลดไปแล้ว 9,000 อัตรา ยืนยันว่ากำลังพลลดลงแล้ว แต่สาเหตุที่งบบุคลากรเพิ่มขึ้นคือ 1.มีการปรับเงินเดือนข้าราชการ ตามนโยบายข้าราชการ ซึ่งกำลังพลที่เป็นระดับปริญญาตรี ให้ปรับเป็น 18,000 บาท 2.มีการปรับค่าตอบแทนพิเศษของทหารกองประจำการหรือพลทหาร เพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 11,000 บาท และเพิ่มเงินชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับเงินเดือนแรกบรรจุรับราชการ”พล.อ.ณัฐพล กล่าว
พล.อ.ณัฐพล กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องเรือฟริเกต ตนเห็นด้วยกับนายชยพล เพราะในชั้นการส่งคำของบประมาณ กองทัพเรือขอมา 2 ลํา รวมเป็นเงิน 35,000 ล้านบาท ซึ่งในระดับนโยบายกังวลว่า หากเกิดเหตุไม่คาดคิด ทำให้การจัดหาไม่เสร็จ รัฐบาลจะสูญเสียเงินทั้งหมด จึงให้กองทัพเรือทยอยจัดหามาหนึ่งลำก่อน ในวงเงิน 17,500 ล้านบาท ทั้งนี้ ในการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพยังมีความจำเป็นตามแผนงานของกองทัพ.