เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 68 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร  เพื่อพิจารณา ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 วงเงิน 3.78 ล้านล้านบาท วาระแรก เป็นวันที่ 3 นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์  สส.ระนอง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) อภิปรายตอนหนึ่งว่า จากที่ได้ดูรายละเอียดงบประมาณรายจ่าย ตาม 6 ยุทธศาสตร์ จะเห็นได้ว่าเราได้มุ่งเน้นพัฒนาด้านต่างๆ แต่คงจะหลงลืมประเด็นสําคัญต่างๆ ปัจจุบันโลกของเราได้เผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวนทวีความรุนแรงขึ้นในทุกปี สําหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ได้เป็นปัญหาประเด็นในด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบเท่านั้น แต่ยังเป็นวิกฤติที่มีผลกระทบต่อการดํารงชีวิตของประชาชน ปัญหาด้านสุขภาพ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ และปัญหาด้านสังคมและความมั่นคงของประชาชน จุดนี้ที่จะทําให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยพิบัติต่างๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลายๆ เรื่อง เราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงหรือเอาชนะภัยพิบัติธรรมชาติเหล่านี้ได้ แต่ถึงอย่างไร ควรที่จะมีการตั้งรับวางแผนคิดระบบ หรือการสร้างโครงสร้าง เตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นเหล่านี้ได้ในอนาคต

นายคงกฤษ กล่าวว่า ขอยกตัวอย่างยุทธศาสตร์ที่สําคัญ 2 ยุทธศาสตร์ 1.ด้านความมั่นคง มีการจัดสรรงบประมาณไว้อยู่ที่ 400,000 กว่าล้านบาท  คิดเป็น ร้อยละ 11 ของบประมาณทั้งหมด เป็นงบประมาณที่มีระบบการพัฒนาเตรียมความพร้อมแห่งชาติ และระบบบริหารจัดการภัยพิบัติเพียงแค่ 26,000 กว่าล้านบาท  ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สําคัญที่จะต้องมีการเพิ่มขีดความสามารถในการที่จะปฏิบัติงานภัยพิบัติฉุกเฉิน เตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนป้องกันบรรเทาสาธารณภัย หรือภัยพิบัติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น จัดหาครุภัณฑ์ หรือสิ่งต่างๆ ที่จะช่วยเหลือพี่น้องในยามที่เกิดภัยพิบัติ งบประมาณเพียงเท่านี้ ไม่น่าจะเพียงพอ ประเทศเราได้สูญเสียในเรื่องพิบัติ ใช้งบประมาณในการเยียวยาฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติมากกว่าที่จะไปตั้งงบประมาณในการป้องกัน ล่าสุดเมื่อ 28 มี.ค. 68  เกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมาร สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร 

“ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ามีการนําเทคโนโลยีเซลล์บรอดแคสต์ มาใช้แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะควบคุมได้ทุกพื้นที่ จึงอยากจะฝาก ควรจะต้องมีการเร่งติดตามติดตั้งตัวเซ็นเซอร์ เรียกว่า ไซโมมิเตอร์ หรืออีกอย่างหนึ่งก็คือติดตั้งตามจุดต่างๆ ที่มีความเสี่ยง หรืออุปกรณ์ภัยพิบัติ ที่มีความทันสมัยทุกรูปแบบ เพื่อที่จะนํางบประมาณในส่วนนี้มาดูแล ครอบคลุมในการติดตาม หรือดูความเคลื่อนไหวในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง” นายคงกฤษ กล่าว

นายคงกฤษ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์สึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 47 ที่สร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สินครัวเรือนของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ภาคใต้ คือ จ.พังงา ภูเก็ต กระบี่ สตูล รวมถึง จ.ระนอง แต่ตรงนี้ เราได้มีการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการดูแลบํารุงรักษา อุปกรณ์ เครื่องเตือนสัญญาณของสึนามิหรือไม่ หรือมีการจัดหาอุปกรณ์ที่มีความทันสมัย สามารถที่จะเตือนภัยในการเกิดเหตุการณ์สึนามิ ปัจจุบัน จ.ระนอง ชุมพร พังงา สุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่เสี่ยง ยังอยู่ในกลุ่มรอยเลื่อนของระนอง คลองมะรุ่ย และเป็นกลุ่มรอยเลื่อนที่ยังมีพลังอยู่ สามารถที่จะเกิดแผ่นดินไหวในอนาคตได้

“ผมจึงมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนชาวภาคใต้ และพี่น้องประชาชนชาว จ.ระนอง โชคดีวันนี้ จ.ระนอง และก็ยังมีจังหวัดที่มีความเสี่ยง ได้มีการเตรียมแผนเผชิญเหตุการณ์ต่างๆ ภัยพิบัติต่างๆ โดยการนําของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ได้กําชับ กํากับ ดูแล ผู้ว่าราชการจังหวัดเกือบทุกจังหวัด ตามนโยบายที่ได้กํากับ และกําชับไว้ว่าเมื่อเกิดเหตุอุทกภัย หรือภัยพิบัติต่างๆ ควรที่ต้องเร่งดําเนินการบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อท่านทราบ ท่านจะลงพื้นที่เองและกํากับดูแลเอง และยังมี นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ที่มีความตื่นตัว และให้ความสําคัญกับเรื่องภัยพิบัติธรรมชาติในวันนี้” สส.ระนอง กล่าว

นายคงกฤษ กล่าวว่า ในยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความสามารถในการแข่งขัน เป็นเรื่องเกี่ยวกับเรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องของเอสอีซี  เรื่องของอีอีซี  เอสอีซี จ.ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ทําไมถึงไม่อภิปรายเรื่องนี้ เพราะเรื่องนี้มีโครงการแลนด์บริดจ์ อยู่ด้วย เกี่ยวกับ เอสอีซี แต่ยังมองไม่เห็นว่า การขับเคลื่อนของยุทธศาสตร์ จะสามารถขับเคลื่อนได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน หรือจะพัฒนาภาคใต้ได้อย่างไร เพราะทุกวันนี้ได้นําเรียนถึงปัญหาของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอุทกภัยก็ดี ปัญหาภัยพิบัติก็ดี หรือปัญหาของฝายน้ำล้น ยังไม่ได้รับการแก้ไข แล้วโครงการแลนด์บริดจ์ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

“ผมจึงขอฝากไปถึงท่านนายกรัฐมนตรีท่านแพทองธาร ชินวัตร โปรดให้ความสําคัญในเรื่องเกี่ยวกับงบประมาณ ในการจัดเรียงลําดับความสําคัญ และความจําเป็นอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ของ จ.ระนอง หรือโครงการต่างๆ ที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับภัยพิบัติตามธรรมชาติต่างๆ เพื่อให้กับประชาชน ได้มีความอุ่นใจ และความมั่นคงในชีวิต” สส.ระนอง กล่าว.