ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ว่า ในช่วงระหว่างการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ภายหลังที่ประชุมสภา ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ในวาระรับหลักการ ทางฝ่ายรัฐบาล ได้ลุกขึ้นเสนอสัดส่วน กมธ. จำนวน 73 คน แบ่งเป็น คณะรัฐมนตรี (ครม.) 18 คน และ สส. แต่ละพรรคการเมืองตามลำดับสัดส่วนอีก 55 คน ปรากฏว่าเมื่อถึงการเสนอชื่อสัดส่วนของพรรคไทยสร้างไทย ปรากฏว่า นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ได้ลุกขึ้นเสนอชื่อ นายชัชวาล แพทยาไทย สส.ร้อยเอ็ด พรรคไทยสร้างไทย ขณะที่นางสุภาพร สลับสี สส.ยโสธร พรรคไทยสร้างไทย เสนอชื่อ นายฐากร ตันฑสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย แทรกขึ้นมาทันที
ทำให้นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ชี้แจงว่า วิปฝ่ายค้านได้หารือและมอบหมายให้นายกัณวีร์ เสนอชื่อกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคไทยสร้างไทย โดยมีผู้รับรองถูกต้อง และได้รับจดหมายจากกรรมการบริหารของพรรคไทยสร้างไทย ว่าพรรคมีมติให้นายชัชวาล เป็นกรรมาธิการงบประมาณ แต่นายพิเชษฐ์แย้งว่า มีอีกคนหนึ่งที่ได้เสนอชื่อเช่นกัน นางสุภาพร จึงได้เสนอชื่อนายฐากร ซ้ำอีกครั้ง พร้อมกับขอผู้รับรอง นายพิเชษฐ์จึงให้วิปทั้งสองฝ่ายพูดคุยกัน ซึ่งนายปกรณ์วุฒิ ยืนยันว่า พรรคไทยสร้างไทยได้ส่งหนังสือรับรองมาจากกรรมการบริหารพรรค หากผู้เสนอชื่ออีกฝ่ายอยากให้ลงมติ ก็ลองลงมติดูก็ได้
ขณะที่นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา พรรคกล้าธรรม ลุกขึ้นกล่าวว่า ในพรรคไทยสร้างไทยมีความเห็นไม่ตรงกัน และให้ สส. จากพรรคอื่นเป็นผู้เสนอชื่อกรรมาธิการ เรื่องนี้ประธานควรใช้เวลาในการหาทางออก เพราะเราไม่รู้ว่าใครที่มีความเหมาะสม แต่ผู้ถูกเสนอชื่อ อยู่พรรคไทยสร้างไทยทั้งคู่
นายปกรณ์วุฒิ จึงย้ำอีกว่า ตอนนี้ได้ข้อสรุปแล้ว เพราะหนังสือจากพรรคไทยสร้างไทยมีความชัดเจน แล้วขอวิงวอนไปยังนายฐากร ให้เคารพมติของกรรมการบริหารพรรคไทยสร้างไทย แต่นายอรรถกรแย้งว่า ในส่วนของพรรคกล้าธรรม การจะเสนอชื่อใครเป็นกรรมาธิการ ไม่มีความจำเป็นต้องทำเป็นหนังสือรับรองจากทางพรรค

ต่อมา นายฐากรได้ใช้สิทธิพาดพิง ชี้แจงว่า แนวทางปฏิบัติที่ผ่านมา การเสนอชื่อบุคคลเป็นกรรมาธิการคือพรรคของตนเองเป็นผู้เสนอ ไม่ใช่ให้พรรคอื่นเสนอชื่อ วันนี้พรรคไทยสร้างไทยเสนอชื่อตน แต่พรรคอื่นเสนอชื่อสมาชิกพรรคไทยสร้างไทยให้ได้เป็นกรรมาธิการ จึงขอให้ประธานวินิจฉัยด้วย
นายพิเชษฐ์ จึงวินิจฉัยว่า ใครจะเสนอก็ได้ ต่อเมื่อมีผู้รับรอง ก่อนจะถามกลับว่า ทำอย่างไรกันดี และขอให้ที่ประชุมช่วยกัน
เมื่อยังหาทางออกไม่ได้ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้ลุกขึ้นหารือว่า ตามข้อบังคับให้มีการเสนอชื่อกรรมาธิการวิสามัญ 73 คน แต่เมื่อสักครู่นี้ สภาผู้แทนราษฎรได้เสนอชื่อกรรมาธิการโดยมีผู้รับรองถูกต้องแล้ว 74 คน หากมีการเสนอชื่อมากกว่าจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด ข้อบังคับกำหนดให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นทางลับ ทั้ง 73 รายชื่อนั้น
ทำให้นายพิเชษฐ์ระบุว่า หากคุยกันไม่ได้ก็ต้องโหวต แต่ขอให้พูดคุยกันภายในพรรคไทยสร้างไทยก่อน จะได้ลงตัว โดยไม่ต้องใช้กระบวนการอื่น ก่อนจะสั่งให้พักการประชุม 5 นาที
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ขณะที่ สส.พรรคไทยสร้างไทย ที่มีแนวโน้มจะย้ายไปร่วมงานกับพรรคกล้าธรรม ได้มีนายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร ในฐานะเลขาธิการพรรคกล้าธรรม นั่งกำกับอยู่ด้วย ขณะที่มีการเสนอชื่อ
ต่อมาเวลา 16.45 น. ได้กลับเข้าสู่การประชุมอีกครั้ง โดยที่ประชุมตกลงกันได้แล้ว นางสุภาพร จึงได้ถอนชื่อนายฐากร ออกจากการเป็น กมธ. ในสัดส่วนของพรรคไทยสร้างไทย โดยมีผู้รับรอง จากนั้นนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ได้ขอเปลี่ยนรายชื่อในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากนายพิษณุ หัตถสงเคราะห์ เป็นนายฐากรแทน จึงเป็นที่ยุติ และได้ตั้ง กมธ.วิสามัญ จำนวน 73 คน ตามสัดส่วนที่กล่าวไป กำหนดกรอบระยะเวลาในการแปรญัตติภายใน 30 วัน โดยจะมีการนัดประชุมนัดแรก วันที่ 9 มิ.ย. นี้ เวลา 13.00 น. จากนั้นฝ่ายเลขาฯ ได้อ่านพระบรมโองการปิดสมัยประชุมสภา (สมัยวิสามัญ) เป็นพิเศษ และนายพิเชษฐ์ ในฐานะประธานการประชุม ได้สั่งปิดประชุมในเวลา 17.00 น.