สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ว่าผลการวิจัยโดยมหาวิทยาลัยแอดิเลด ระบุว่า ทีมนักวิจัยดำเนินการทบทวนงานวิจัย 26 ฉบับอย่างครอบคลุม และเน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงที่สอดคล้องกันระหว่างภาวะซึมเศร้าในผู้สูงวัย กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการเกิดภาวะสมองเสื่อมจากทุกสาเหตุ


นายเจคอป เบรน นักวิชาการระดับปริญญาเอก ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแอดิเลดและมหาวิทยาลัยนอตติงแฮมในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นผู้เขียนหลักของการศึกษาชิ้นนี้ กล่าวว่า ผลการศึกษาแสดงให้เห็นถึงภาวะซึมเศร้ามีความเชื่อมโยง กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคสมองเสื่อม ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงวัยกลางคนหรือวัยสูงอายุ การป้องกันและรักษาภาวะซึมเศร้าในทุกช่วงวัย จึงเป็นเรื่องสำคัญ ในการส่งเสริมทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพของสมอง


โรคสมองเสื่อมส่งผลกระทบต่อผู้คนมากกว่า 57 ล้านคนทั่วโลก แม้ผลการศึกษาก่อนหน้านี้เคยพบความเชื่อมโยงระหว่างโรคสมองเสื่อมกับภาวะซึมเศร้า แต่การศึกษาวิจัยชิ้นล่าสุดให้ข้อมูลในรายละเอียดว่า ช่วงเวลาที่เกิดภาวะซึมเศร้า และความรุนแรงของมัน อาจมีบทบาทสำคัญ ต่อความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมด้วย


การศึกษาดังกล่าว ได้รับการเผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ออนไลน์ อีคลินิคัลเมดิซีน (eClinicalMedicine) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวารสารเดอะ แลนเซ็ต ดิสคัฟเวอรี ไซแอนซ์ (The Lancet Discovery Science) เปิดเผยว่าความสัมพันธ์พื้นฐานระหว่างภาวะซึมเศร้ากับโรคสมองเสื่อมมีความซับซ้อน ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการอักเสบเรื้อรัง การเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือด การเสื่อมของระบบประสาท ตลอดจนปัจจัยทางพันธุกรรม หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่คล้ายกัน


ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ภาวะซึมเศร้าในวัยสูงอายุอาจไม่ใช่แค่หนึ่งในปัจจัยเสี่ยง แต่อาจเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าว่ากำลังเริ่มเกิดโรคสมองเสื่อม การศึกษาครั้งนี้จะสร้างวิธีการใหม่ในการรักษาโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ และการป้องกันโรคสมองเสื่อมในอนาคต.

ข้อมูล : XINHUA

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES