นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงกรณี บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ไม่เข้าร่วมประมูลรับจัดสรรคลื่นจาก สำนักงาน กสทช. ในวันที่ 29 มิ.ย. ว่า  เอ็นที ยังไม่มีความชัดเจนทางนโยบาย จึงไม่ควรเร่งเข้าสู่กระบวนการประมูล ซึ่งตามปกติแล้ว การจะตัดสินใจเข้าหรือไม่เข้าร่วมประมูล ทางเอ็นทีต้องเสนอผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนเสมอ ดังนั้น เมื่อยังไม่มีมติ ครม.ใดรองรับในเรื่องนี้เลย ก็ไม่ควรปล่อยให้เอ็นทีเข้าสู่กระบวนการประมูล เพราะอาจสร้างปัญหาทางกฎหมายในภายหลัง และเสี่ยงให้รัฐเสียประโยชน์

“ธุรกิจโมบายของเอ็นทีเป็นภาระขาดทุนต่อเนื่องปีละราว 4,000 ล้านบาท เพราะต้นทุนสูงกว่ารายรับ หากไม่มีการตัดสินใจที่ชัดเจน การใช้เงินสำรองของรัฐจะกลายเป็นเรื่องปกติ ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นในยุคที่คลื่นความถี่ต้องถูกใช้ให้คุ้มค่า ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาคัดค้านการบริหารของเอ็นทีแต่ต้องการให้มีความชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้โดยเฉพาะเมื่อคลื่นความถี่ถือเป็นทรัพยากรระดับชาติที่มีมูลค่ามหาศาล  จึงต้องฟังเสียงจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะสภาองค์กรผู้บริโภค และควรมีเวทีพูดคุยให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ก่อนจะไปถึงจุดที่ต้องประมูล เพราะหากตัดสินใจผิดพลาด ประชาชนจะเป็นผู้ที่เสียประโยชน์ในที่สุด”

ประเสริฐ จันทรรวงทอง

ทางด้าน พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็นที กล่าวว่า ในปี 68 นี้ ทางเอ็นที จะยังไม่ขาดทุน แม้คลื่นมือถือหลักอย่าง 850, 2100 และ 2300  เมกะเฮิรตซ์ กำลังจะหมดอายุใบอนุญาตในเดือนสิงหาคมนี้ โดยประเมินว่า รายได้จะลดลงราว 3,000 ล้านบาท จากรายได้รวม 10,000 ล้านบาทต่อปี โดยจะใช้คลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่ถืออยู่ 5 เมกะเฮิรตซ์ รองรับลูกค้าราว 1.6 ล้านเลขหมายแทนคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ ที่จะหมดอายุ โดยการโอนย้ายลูกค้าจะเริ่มแบบ โอทีเอ (Over-The-Air) ประมาณ 300,000 เลขหมายภายในสิ้นปีนี้ ส่วนลูกค้าที่ใช้โทรศัพท์ที่ไม่รองรับคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ บริษัทกำลังหาทางออกผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อควบคุมต้นทุนจะให้บริการเฉพาะ 4จี บนคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ โดยไม่ใช้ 5จี ซึ่งมีต้นทุนโครงข่ายสูงกว่า โดยบริการ 4จี เพียงพอสำหรับลูกค้าของเอ็นทีทั้งการโทรและใช้งานอินเทอร์เน็ต

ด้านแหล่งข่าวจาก กระทรวงดีอี กล่าวว่า หนึ่งในทางออกของธุรกิจมือถือของเอ็นที  คือ การขายคลื่น หรือให้เอกชนเช่าใช้คลื่นที่เอ็นทีถือครองอยู่  โดยเป็นแนวทางที่กำลังหารือกันในหลายระดับ แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุป เนื่องจากเอ็นทีอยู่ระหว่างการจัดทำแผนธุรกิจใหม่ และยังไม่ชัดเจนว่าจะเสนอเข้าสู่บอร์ดบริหารเมื่อใด.