ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการอบรมเชิงปฏิบัติการการเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืน เช่น การขยายพื้นที่ให้ไก่ได้เดิน การเพิ่มอุปกรณ์กระตุ้นพฤติกรรมธรรมชาติจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อคุณภาพชีวิตของสัตว์อย่างเห็นได้ชัด การลดการใช้ยาปฏิชีวนะซึ่งช่วยแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา หรือการหลีกเลี่ยงสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกันเป็นห่วงโซ่อาหาร

นายสมจิตร นามสว่าง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองสนิท กล่าวว่า แผนงานระยะถัดไปของโครงการจะเน้นการขยายผลการวิจัยและการสนับสนุนด้านเทคนิคอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจบการอบรม เกษตรกรจะเริ่มเลี้ยงไก่ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม 2568 ซึ่งเป็นช่วงสำคัญในการติดตามและประเมินผลการเปลี่ยนแปลงฟาร์ม จากระบบปิดที่จำกัดอิสรภาพของสัตว์ สู่ระบบปล่อยอิสระที่ให้สัตว์ได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ โครงการยังมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือกับภาคท้องถิ่น และเป็นต้นแบบให้เกษตรกรในพื้นที่อื่น ๆ  ในการเปลี่ยนผ่านสู่การทำฟาร์มที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์และความยั่งยืนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้โครงการฟาร์มแชมเปี้ยนในปีแรกเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตของเกษตรกรไทย ผลจากการเลี้ยงแสดงให้เราเห็นอย่างชัดเจน  ไก่มีสุขภาพแข็งแรงจากการไม่ต้องอยู่แบบแออัดได้รับแสงแดดและอากาศบริสุทธิ์ ตลอดจนได้แสดงออกพฤติกรรมตามธรรมชาติ ทำให้อัตราการรอดชีวิตของไก่เพิ่มจากเฉลี่ย  95% เป็น 99%

นอกจากนี้ ฟาร์มที่เข้าร่วมโครงการสามารถหยุดการใช้ยาปฏิชีวนะได้แบบ  100% และมีการเพิ่มอาหารเสริมให้ไก่ด้วยแหล่งโปรตีนที่มาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น หนอนแมลงวันลาย แหนแดง ไข่ผำ หรือสมุนไพรต่าง ๆ  ทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมสามารถลดต้นทุนจากการใช้ยาและสารเคมีได้หลักหลายพันบาทต่อการเลี้ยงไก่หนึ่งรุ่น  ขณะเดียวกัน เกษตรกรยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายไก่สวัสดิภาพสูงได้อีกด้วย  ผลลัพธ์เหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงตัวเลข แต่คือหลักฐานว่าระบบฟาร์มสวัสดิภาพสูง สามารถสร้างความยั่งยืนได้ต่อทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม.