ทุกวันที่ 5 มิถุนายน “วันสิ่งแวดล้อมโลก” จะเวียนกลับมาเตือนใจเรา…แต่ในขณะที่วันในปฏิทินยังเหมือนเดิม โลกกลับเปลี่ยนไปอย่างน่ากังวล อุณหภูมิสูงขึ้น ฝนตกผิดฤดู ภัยพิบัติถี่ขึ้น และทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอลงทุกวัน เหมือนธรรมชาติกำลังส่งสัญญาณ SOS ให้เราได้ยินชัดขึ้นเรื่อย ๆ

คำถามคือ เราจะฟังและลงมือทำหรือจะปล่อยให้มันเป็นแค่ “อีกวันหนึ่ง” ที่เราปล่อยผ่าน?

ประเทศไทย ดินแดนที่เคยอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ กำลังเผชิญความเสื่อมโทรมในหลากหลายมิติ และที่น่ากังวลยิ่งกว่าก็คือ…ความเสื่อมนั้นกำลังถูกมองว่าเป็น “เรื่องปกติ”

หนึ่งในภาพสะท้อนที่ชัดเจนที่สุดคือ “ขยะพลาสติกในทะเล” ที่ลอยอยู่เหนือผิวน้ำเหมือนเป็นแค่เศษซากไร้ค่า แต่แท้จริงแล้ว มันคือเพียงส่วนปลายของภูเขาน้ำแข็งที่จมลึกอยู่ใต้น้ำ ขยะพลาสติกเหล่านี้ทำลายชีวิตสัตว์ทะเลอย่างโหดร้า บางตัวกลืนกินเข้าไปเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นอาหาร บางตัวติดอยู่ในกับดักของขยะจนบาดเจ็บหรือสิ้นใจอย่างเจ็บปวด

นอกเหนือจากทะเลที่เต็มไปด้วยขยะ ยังมีพื้นที่รกร้างที่เต็มไปด้วย “ขยะพิษ” จากการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ไม่ใช่แค่ปัญหาทางสายตา แต่เป็นภัยที่ฝังลึกในผืนดิน และค่อยๆ ซึมเข้าสู่น้ำใต้ดินอย่างเงียบงัน ส่งผลต่อสุขภาพของชุมชนรอบข้างโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว

อีกกรณีที่ไม่อาจมองข้าม คือ “แม่น้ำกก” หนึ่งในแม่น้ำสายหลักของภาคเหนือ ที่ถูกตรวจพบสารพิษอย่างสารหนูและตะกั่วในระดับน่าห่วง สาเหตุยังไม่ชัดเจน แต่ผลกระทบปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน ทั้งปลาในแม่น้ำที่มีตุ่มผิดปกติ และคุณภาพน้ำที่ไม่ปลอดภัยสำหรับการใช้อุปโภคบริโภคของชุมชนที่ต้องพึ่งพาแหล่งน้ำนี้

ข้ามไปในระดับโลก โลกกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “Ocean Darkening” หรือการที่ “มหาสมุทรมืดลง” ซึ่งเกิดจากความใสของน้ำทะเลลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ตะกอน สารอินทรีย์ และมลพิษจากกิจกรรมบนบกที่ไหลลงสู่ทะเล ทำให้น้ำขุ่น แสงแดดส่องลึกไม่ถึง ส่งผลโดยตรงต่อการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืช ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหารในทะเล เมื่อจุดเริ่มต้นอ่อนแอ ระบบนิเวศทั้งหมดก็สั่นคลอน

ในทางกลับกัน ยังมีบางกรณีที่ถูกตีตราเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยปราศจากหลักฐานชัดเจน เช่น กรณีปลาหมอคางดำ สัตว์น้ำต่างถิ่นที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศ ทั้งที่ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอว่าการแพร่พันธุ์เกิดขึ้นจากความตั้งใจ ละเลย หรือเป็นผลข้างเคียงของระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลง การเร่ง “กำจัด” โดยไม่มีแผนรองรับหรือความเข้าใจในกลไกธรรมชาติ อาจเป็นการซ้ำเติมปัญหา และเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาหลักที่รุนแรงกว่าและชัดเจนกว่า

เมื่อปัญหาสิ่งแวดล้อมซับซ้อนเกินกว่าจะมี “คำตอบเดียว” ความพยายามในการแก้ไขจึงไม่ควรจบลงที่การหาคนผิด หรือการโบ้ยความรับผิดชอบให้ใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ควรพุ่งเป้าไปที่ “ต้นตอ” และ “ผลกระทบจริง” อย่างการจัดการขยะพิษ การควบคุมสารเคมีที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ การลดการใช้พลาสติกที่เล็ดรอดเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร หรือการควบคุมสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่อาจเปลี่ยนสมดุลธรรมชาติ

เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งว่า ไม่มีฝ่ายใดสามารถจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้ได้ลำพัง การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดจากพลังร่วมของรัฐ เอกชน นักวิชาการ ประชาชน และสื่อมวลชน ขณะเดียวกัน ภาคประชาสังคมหรือเอ็นจีโอก็ต้องปรับบทบาท จากผู้ตั้งคำถาม เป็นผู้เสนอทางออกอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน

และในวันที่เทคโนโลยีอยู่ในมือเรา ความรู้ไม่ได้จำกัดอยู่ในห้องประชุมหรือห้องทดลองอีกต่อไป มันต้องถูกกระจายให้ถึงทุกกลุ่มคน เปลี่ยน “ความกลัว” ให้เป็น “ความเข้าใจ” เพราะการเข้าใจคือจุดเริ่มต้นของการมีส่วนร่วม

สิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่ใช่หน้าที่ของใครเพียงคนเดียว แต่มันคือ “รากฐานของชีวิต” ที่กำลังพังลงอย่างเงียบๆ ถึงเวลาแล้วที่ “วันสิ่งแวดล้อมโลก” จะไม่ใช่อีเวนต์ประจำปีที่เราฉลองกันเฉยๆ แต่กลายเป็น “จุดเริ่มต้นของการลงมือทำจริงๆ” ก่อนที่ธรรมชาติจะหมดโอกาสในการเตือนเราอีกต่อไป

———————
ภาณุพงศ์ เขียวทวี นักวิชาการด้านสัตว์น้ำ