สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ว่า บรรดานักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ แสดงความคิดเห็นในวารสาร “เนเจอร์” ซึ่งเผยแพร่ก่อนการประชุมสุดยอดด้านมหาสมุทรของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในฝรั่งเศส เรียกร้องให้รัฐบาลต่าง ๆ ดำเนินการอย่างเด็ดขาดยิ่งขึ้น เพื่อปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในทะเลนอกเขตอำนาจศาลของประเทศ

พวกเขาเตือนว่า การแสวงหาประโยชน์จากทะเลหลวง รวมถึงข้อเสนอใหม่ในการทำเหมืองใต้ทะเล และการจับสัตว์น้ำสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ระดับความลึกมากขึ้น มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิด “ความเสียหายที่ไม่สามารถย้อนกลับได้” ต่อชีวิตในมหาสมุทร ตลอดจนบ่อนทำลายบทบาทสำคัญของทะเลหลวง ในการควบคุมสภาพอากาศของโลก

ทั้งนี้ สนธิสัญญาว่าด้วยการปกป้องทะเลหลวง ซึ่งได้รับการรับรองเมื่อปี 2566 แต่ยังอยู่ครึ่งทางของการให้สัตยาบัน มีความสำคัญอย่างยิ่งในการบรรลุเป้าหมายการคุ้มครองพื้นที่มหาสมุทรของโลก 30% ภายในปี 2573 อย่างไรก็ตาม ผู้สันทัดกรณีหลายคนที่แสดงความคิดเห็นในวารสาร กล่าวว่า ประเทศต่าง ๆ ควรดำเนินการมากกว่านี้

นายแคลลัม โรเบิร์ตส์ ผู้เขียนหลัก และศาสตราจารย์ด้านการอนุรักษ์ทางทะเล จากมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ ในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า โลกควรยึดข้อตกลงระดับโลกในการปกป้องแอนตาร์กติกาเป็นตัวอย่าง ในฐานะ “ทรัพยากรส่วนรวมของโลกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลก”

“พวกเขาควรตกลงที่จะรักษาพื้นที่ดังกล่าวให้มีสภาพสมบูรณ์ และไม่ถูกรบกวน เพื่อไม่ทำให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงตามมา จากการแสวงหาประโยชน์ที่เราควบคุมไม่ได้” โรเบิร์ตส์ กล่าวทิ้งท้าย.

เครดิตภาพ : AFP