เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. เวลา 17.10 น. ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงถึงสถานการณ์ชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ว่า  นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ ได้เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกระทรวงฯ เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (5 มิ.ย.) เพื่อหารือถึงการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ สำหรับการประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ไทย-กัมพูชา ซึ่งฝ่ายไทยยังมีเป้าหมายคือการปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของไทยอย่างเต็มที่ รวมถึงมุ่งหาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธีที่จะต้องเป็นไปตามกฎหมายไทย หลักกฎหมายระหว่างประเทศ และที่สำคัญ คือควรใช้กลไกทวิภาคีต่างๆ ที่มีอยู่ในการแก้ไขปัญหา ทั้งการประชุมคณะกรรมการเจบีซีไทย-กัมพูชา, คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) ไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นระดับ รมว.กลาโหม และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (อาร์บีซี) ระดับแม่ทัพภาค ที่มีหน้าที่หลักในการดูแลรักษาสถานการณ์ชายแดนให้มีความสงบเรียบร้อย

นายนิกรเดช กล่าวอีกว่า สำหรับกลไกเจบีซีนั้น ฝ่ายไทยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีกระทรวงการต่างประเทศเป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ โดยเจบีซีเป็นกลไกทางเทคนิคเพื่อหารือและสำรวจในการจัดทำหลักเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา และล่าสุด ฝ่ายกัมพูชากำหนดจัดการประชุมเจบีซีในวันที่ 14 มิ.ย. 2568 ที่กัมพูชา ทั้งนี้ การประชุมคณะผู้บริหารกระทรวงการต่างประเทศในวันนี้ เน้นย้ำความตั้งใจใน 3 ประเด็น คือ 1.เราจะใช้ประโยชน์จากกลไกเจบีซีอย่างเต็มที่ควบคู่กับกลไกจีบีซีและอาร์บีซี โดยกลไกเจบีซีได้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงเวลา 26 ปีที่ผ่านมา สามารถแก้ไขปัญหาสำเร็จในหลายพื้นที่ 2.เราจะใช้กลไกการประชุมกับฝ่ายกัมพูชาด้วยความสุจริตใจ 3.เราหวังว่าการประชุมดังกล่าวจะช่วยลดความตึงเครียดของสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยและกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดน ให้ได้อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขและเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน

นายนิกรเดช กล่าวว่า รัฐบาลไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ และคงการหารือทุกระดับกับฝ่ายกัมพูชา เพื่อสานต่อความสัมพันธ์ที่ดีในฐานะประเทศเพื่อนบ้านและครอบครัวอาเซียนด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับกัมพูชาครบรอบ 75 ปีในปีนี้ และขอฝากสื่อมวลชนว่าในการรายงานข่าวนั้น ขอให้หลีกเลี่ยงการขยายข่าวที่เป็นการปลุกระดมหรือกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดโดยที่ยังไม่มีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงชัดเจน อย่างเช่น ข่าวที่อ้างว่าพบทุ่นระเบิดตามแนวชายแดนนั้น ขณะนี้ทางกระทรวงฯ จำเป็นต้องตรวจสอบรายละเอียดของเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วนก่อน และต้องขอรับฟังข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย อีกทั้งขอความร่วมมือจากประชาชนว่าอย่าคาดการณ์ไปเอง เพื่อลดการสร้างประเด็นที่อาจเพิ่มความขัดแย้ง  นอกจากนี้ กรณีที่มีข่าวจากสื่อมวลชนหลายรายระบุว่ากัมพูชาจะไม่ร่วมประชุมเจบีซีกับไทยนั้น ตนขอย้ำว่าข่าวนี้ไม่เป็นความจริง เพราะกัมพูชาพร้อมเป็นเจ้าภาพการประชุมนี้ และฝ่ายไทยจะไปประชุมตามคำเชิญ คณะเจบีซีฝ่ายไทย ที่นำโดยนายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย อดีตเอกอัครราชทูตไทยที่มีความรู้ด้านการปักปันเขตแดน เป็นหัวหน้าคณะ ดังนั้น ขอให้สื่อมวลชนระมัดระวังการนำเสนอข่าวและการพาดหัวข่าวที่อาจคลาดเคลื่อนด้วย

เมื่อถามว่ารัฐบาลกัมพูชาออกแถลงการณ์ว่าจะไม่นำ 4 จุดที่เกิดข้อพิพาท รวมถึงช่องบก ไปหารือในที่ประชุมเจบีซีด้วย นายนิกรเดช กล่าวว่า ไทยในฐานะเพื่อนบ้านของกัมพูชา เรามุ่งมั่นแก้ปัญหาโดยสันติวิธีบนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ สนธิสัญญาต่างๆ เช่น เอ็มโอยูไทย-กัมพูชา ปี 2543 และขอย้ำว่าไทยพร้อมเจรจาผ่านกลไกทวิภาคีที่มีอยู่ ขณะเดียวกันขอย้ำว่าไทยไม่ได้ยอมรับอำนาจของศาลโลก ดังนั้นยังไปไม่ถึงจุดนั้น

ผู้สื่อข่าวถามถึงการที่ทหารกัมพูชาเข้ามาที่เขตปลอดทหาร (No man’s land) นายนิกรเดช กล่าวว่า อยู่ระหว่างการใช้กลไกเจบีซีจัดการพื้นที่ตรงนี้ที่เป็นจุดทับซ้อน แม้มีการล้ำเข้ามาในจุดดังกล่าวซึ่งละเมิดข้อตกลงเจบีซี ข้อ 5 แต่ยังไม่ใช่การบุกรุกแผ่นดินไทย ซึ่งฝ่ายไทยประท้วงกัมพูชา 4 ครั้งในเรื่องพื้นที่ช่องบก โดยไม่ได้เกี่ยวกับศาลโลก และไทยไม่ยอมรับอำนาจศาลโลก กัมพูชาสามารถทำในสิ่งที่กัมพูชาต้องการได้ และการใช้กลไกบุคคลที่สามเข้ามาเพื่อยุติปัญหา ต้องได้รับการยอมรับของทุกฝ่าย ทั้งนี้ เอ็มโอยูไทย-กัมพูชา ปี 2543 เป็นเอกสารอ้างอิงของฝั่งไทย โดยจะยึดถือเอกสารต่างๆ ภาพถ่ายดาวเทียม และหลักฐานอื่นๆ

เมื่อถามถึงข่าวที่สื่อกัมพูชาอ้างว่าทูตอินโดนีเซียเสนอจะเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย นายนิกรเดช กล่าวว่า เรายังไม่ได้รับรายงานเรื่องนี้ แต่คิดว่ายังไม่ถึงจุดนั้น ความหวังของไทย เราจะหาข้อสรุปได้ในกลไกทวิภาคี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากัมพูชาจะมีเจตนารมณ์เช่นเดียวกับเราในการหาข้อสรุป และตนไม่คิดว่าเราต้องใช้ประเทศอื่นใดมาช่วย อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่ช่องบกนั้น ตนยังไม่ทราบว่าจะมีในที่ประชุมหรือไม่ แต่คงต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่าย คงไม่ใช่ฝ่ายไทยสอบสวนคนเดียว ฝ่ายกัมพูชาจะต้องสอบสวนและเอาข้อมูลมายืนยันกัน อย่างไรก็ตาม ไทยหวังอย่างยิ่งว่ากัมพูชาจะเจรจาด้วยท่าทีที่สุจริตใจเช่นกัน ซึ่งหากเป็นแบบนั้น ย่อมหาข้อสรุปได้.