“การตั้งครรภ์” สำหรับหลายๆคนถือเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้น หรือเป็นความหวังที่ยิ่งใหญ่ของการมีสมาชิกใหม่และสร้างครอบครัว แต่มีบางรายที่คุณผู้หญิงซึ่งรู้สึกว่าตัวเองมีอาการต่างๆ เช่นเดียวกับคนตั้งท้อง แต่แพทย์ตรวจพบว่าอาการดังกล่าวมาจากภาวะอื่นที่ไม่ใช่การตั้งครรภ์ กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ท้องลม” ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบทางจิตใจ แต่อาจเป็นสัญญาณเตือนความผิดปกติภายในร่างกายด้วย
“คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล” มีเกร็ดความรู้สาระสุขภาพเรื่องท้องลม (Blighted Ovum) คือ ภาวะที่ผู้หญิงมีอาการเหมือนตั้งครรภ์ปกติ อาทิ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ อาเจียน หรือประจำเดือนขาด แต่เมื่อตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ กลับพบแค่ถุงการตั้งครรภ์ในมดลูกโดยไม่พบตัวอ่อน หรือบางกรณี ตัวอ่อนอาจสลายไปตั้งแต่ระยะแรกของการตั้งครรภ์
ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกช่วงอายุ และไม่สามารถป้องกันได้โดยตรง เพราะมักเกิดจากความผิดปกติทางธรรมชาติ เช่น ความผิดปกติของโครโมโซมหรือกระบวนการแบ่งเซลล์ในช่วงเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหญิงที่มีอายุมาก โอกาสเสี่ยงก็จะเพิ่มตามไปด้วย
“ท้องลม” เกิดจากอะไร
ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุของภาวะท้องลมได้อย่างชัดเจน แต่ในหลายกรณีพบว่า ประมาณ 45-50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มีภาวะนี้ เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมในตัวอ่อน ทำให้ตัวอ่อนไม่แข็งแรง ไม่สามารถพัฒนาเป็นทารกได้ตามปกติ และสลายตัวไปในระยะแรก เหลือเพียงถุงการตั้งครรภ์ที่ยังอยู่ในมดลูก
เมื่อร่างกายรับรู้ว่าการตั้งครรภ์มีความผิดปกติ และไม่มีพัฒนาการของตัวอ่อน ระบบภายในจะเริ่มขับเลือดและเนื้อเยื่อที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ออกมา ส่งผลให้ผู้ตั้งครรภ์มีอาการเลือดออกทางช่องคลอดอย่างผิดปกติ
อาการนี้จึงเป็นสัญญาณเตือนสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม หากพบว่าเลือดออกผิดปกติในช่วงตั้งครรภ์ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด และรับการดูแลอย่างเหมาะสม

ทำไม “ท้องลม” จึงมีผลตรวจการตั้งครรภ์เป็นบวก
หลายคนอาจสงสัยว่าในเมื่อไม่มีตัวอ่อนอยู่ในมดลูก ทำไมผลตรวจตั้งครรภ์จึงยังขึ้นเป็นบวก คำตอบคือ เพราะร่างกายยังผลิตฮอร์โมน HCG (Human Chorionic Gonadotropin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่แสดงถึงการตั้งครรภ์ ตรวจพบได้ในปัสสาวะและเลือด
โดยปกติแล้ว หลังจากที่ไข่ได้รับการปฏิสนธิกับอสุจิและฝังตัวที่ผนังมดลูก ร่างกายจะเริ่มสร้างฮอร์โมน HCG จากรก ซึ่งเริ่มตรวจพบได้ตั้งแต่ประมาณ 6 วันหลังการฝังตัว แม้จะไม่มีการพัฒนาของตัวอ่อน ฮอร์โมนนี้ก็ยังถูกผลิตอยู่ในช่วงแรก จึงทำให้การตรวจด้วยชุดทดสอบปัสสาวะหรือการตรวจเลือดยังแสดงผล “สองขีด” หรือผลบวกเหมือนการตั้งครรภ์ปกติ แต่เมื่อตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ จะพบถุงการตั้งครรภ์ในมดลูก ไม่มีตัวอ่อนภายใน ซึ่งเป็นจุดสังเกตสำคัญที่ช่วยวินิจฉัยภาวะท้องลมได้อย่างชัดเจน
“ท้องลม” อาการเป็นอย่างไร
อาการของท้องลมในช่วงแรกมักคล้ายกับการตั้งครรภ์ปกติ เช่น
-ประจำเดือนขาด
-คลื่นไส้ อาเจียน
-เจ็บหน้าอก
-อ่อนเพลีย
แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงสัปดาห์ที่ 6–10 ของการตั้งครรภ์ อาการเหล่านี้อาจหายไป หรืออาจมีอาการผิดปกติ เช่น
-มีเลือดออกกะปริดกะปรอย
-ปวดท้องหน่วง ๆ คล้ายปวดประจำเดือน
-ไม่รู้สึกว่าท้องโตขึ้น

การทำอัลตราซาวนด์จึงเป็นวิธีสำคัญที่จะช่วยยืนยันว่ามีทารกอยู่หรือไม่ และควรได้รับการตรวจจากแพทย์ทันทีเมื่อสงสัยว่าตั้งครรภ์
วิธีป้องกันภาวะ “ท้องลม”
แม้ท้องลมจะเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ควบคุมไม่ได้ แต่คุณแม่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการดูแลสุขภาพให้ดีที่สุดก่อนตั้งครรภ์ ดังนี้
@ วางแผนการตั้งครรภ์ร่วมกับแพทย์
@ ตรวจสุขภาพก่อนมีบุตร รวมถึงตรวจโครโมโซม
@ หลีกเลี่ยงสารเสพติดและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
@ กินโฟเลต และวิตามินก่อนตั้งครรภ์
@ พักผ่อนให้เพียงพอ และลดความเครียด
@ การดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้สภาพร่างกายพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ที่สมบูรณ์

“ท้องลม” เป็นแล้วกลับมาเป็นซ้ำได้ไหม
สามารถเป็นซ้ำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงที่มีอายุมาก โอกาสของการเกิดภาวะท้องลมจะยิ่งเพิ่มขึ้นตามอายุ อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดภาวะท้องลมบ่อยครั้ง อาจไม่ใช่แค่ความผิดปกติที่เกิดขึ้นแบบสุ่มตามธรรมชาติ แต่อาจมีปัจจัยแฝงอื่นๆร่วมด้วย เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งของคู่สมรส
กรณีที่คุณแม่มีประวัติท้องลมตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป แพทย์จะพิจารณาให้ทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เช่น ตรวจโครโมโซมของทั้งพ่อและแม่ รวมถึงการตรวจสุขภาพระบบสืบพันธุ์อย่างละเอียด เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงและวางแผนดูแลการตั้งครรภ์ในครั้งต่อไปได้อย่างเหมาะสม
“ท้องลม” ต้องขูดมดลูกหรือไม่
การรักษาภาวะท้องลมไม่จำเป็นต้องขูดมดลูกในทุกกรณี ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์และสภาพร่างกายของแต่ละคน สามารถแบ่งเป็น 2 กรณีหลักๆ ดังนี้
1. หากถุงการตั้งครรภ์สามารถหลุดออกจากมดลูกได้เองอย่างสมบูรณ์ และไม่มีอาการแทรกซ้อน อาทิ เลือดออกมากหรือมีไข้สูง แพทย์อาจพิจารณาให้ร่างกายขับเนื้อเยื่อออกเองตามธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องขูดมดลูก
2. ในกรณีที่ร่างกายไม่สามารถขับถุงการตั้งครรภ์ออกมาได้หมด หรือมีเยื่อบุโพรงมดลูกตกค้าง แพทย์จะพิจารณาให้ทำการ ขูดมดลูก เพื่อเอาเยื่อบุหรือชิ้นเนื้อที่ตกค้างออกให้หมด ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและช่วยให้มดลูกกลับเข้าสู่สภาพปกติเร็วขึ้น
ภาวะท้องลมเป็นเรื่องที่สร้างความสับสนและเจ็บปวดให้กับคุณแม่มือใหม่ไม่น้อย แม้ไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด แต่การดูแลสุขภาพ วางแผนก่อนตั้งครรภ์ และตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอสามารถช่วยลดความเสี่ยงได้มาก หากสงสัยว่าตัวเองมีความผิดปกติในช่วงตั้งครรภ์แรกๆ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจอัลตราซาวนด์โดยเร็ว