เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. น.ส.ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจาก Protection International เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่ม “ฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด” รวมตัวจัดกิจกรรมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก โดยเริ่มจากวัดสระขี้ตุ่น ต.หนองบัวตะเกียด และเคลื่อนขบวนไปยังที่ว่าการอำเภอด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เพื่อรณรงค์ต่อต้านการทำเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ โดยในขบวนมีการแสดงสัญลักษณ์ผลกระทบจากการทำเหมือง ได้แก่ รถพุ่มพวงที่บรรทุกขวดน้ำเค็ม ถุงเกลือจากดินที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่โปแตชด่านขุนทด และ “รถระเบิดจำลอง” ที่สะท้อนอันตรายจากการเตรียมนำระเบิดมาขุดเจาะแร่โปแตชใต้ดินในพื้นที่ชุมชน โดยทั้งหมดได้ตั้งขบวนเดินเท้าพร้อมจัดทีมดาวกระจายที่มีมนุษย์บอมเบอร์เกิร์ลเข้าบอกเล่าข้อเท็จจริงของผลกระทบเหมืองแร่โปแตชด่านขุนทดและในพื้นที่ทั่วภาคอีสานให้กับประชาชนในอำเภอด่านขุนทดได้รับทราบ พร้อมสลับกับการปราศรัยของตัวแทนกลุ่ม
นอกจากนี้ยังมีการปล่อยป้ายผ้าขนาดใหญ่บริเวณสะพานลอยหน้าโรงเรียนมัธยมด่านขุนทด เพื่อสื่อสารสาธารณะให้ประชาชนตื่นตัวต่อผลกระทบจากเหมืองโปแตชและการใช้ระเบิดในการเจาะอุโมงค์ใต้ดินในพื้นที่ชุมชนโดยป้ายหลักเขียนข้อความว่า “ปกป้องโลก หยุดระเบิด หยุดขูดรีดขุดเจาะ หยุดเหมืองโปแตช”

น.ส.ปรานม กล่าวต่อว่า การที่รัฐไทยปล่อยให้เหมืองโปแตชซึ่งมีการลงทุนจากบริษัททุนพลังงาน และทุนข้ามชาติจากจีน ดำเนินไปโดยไม่มีการตรวจสอบสาธารณะและไม่มีระบบเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ ถือเป็นการละเมิดหลักการ UNGPs ที่ระบุว่ารัฐต้อง ‘คุ้มครอง’ และบริษัทต้อง ‘เคารพ’ สิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกัน ยังสะท้อนถึงโครงสร้างอำนาจที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน โดยกดทับเสียงของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในชุมชนซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมลพิษ การสูญเสียที่ดิน และภาระงานดูแลที่เพิ่มขึ้นโดยไม่มีการชดเชยเยียวยา
ขณะที่ น.ส.จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงและที่ปรึกษากลุ่มฯ กล่าวว่า เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก จึงจัดกิจกรรมเดินรณรงค์เพื่อสื่อสารประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในอำเภอด่านขุนทดของเราที่กำลังได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตช และยังได้รับผลกระทบจากโรงงานแป้งมัน ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่สำคัญและที่เป็นตัวในการทำลายสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร ธรรมชาติของบ้านเรา ดังนั้นวันนี้จึงอยากเชิญชวนประชาชนในอำเภอด่านขุนทด ได้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาร่วมกันและเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องจัดการให้เร็วที่สุด

ทั้งนี้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ได้อ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้อง 3 ข้อดังนี้ เนื่องในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลก ผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด จ.นครราชสีมา จึงมีข้อเรียกร้องดังนี้
1. รัฐบาลไทยต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองโปแตชของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด ในฐานะที่เป็นผู้ใช้อำนาจผ่านหน่วยงานราชการในการอนุมัติ/อนุญาตให้ก่อสร้างเหมืองแห่งนี้ และต้องสร้างหลักประกันด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ประชาชนเพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีอากาศสะอาด และมีแหล่งน้ำที่ปลอดจากมลพิษ 2. รัฐบาลไทยต้องหยุดหนุนหลัง เอื้อประโยชน์และยุติความร่วมมือให้ทุนผูกขาดและทุนข้ามชาติจากรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีนที่กำลังขุดเจาะทำลายผืนแผ่นดิน สายน้ำและระบบนิเวศอย่างไร้ความรับผิดชอบจากการทำเหมืองโปแตชของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด
3. รัฐบาลไทยต้องยุตินโยบายการสำรวจและทำเหมืองโปแตชในภาคอีสานทั้งหมด ในส่วนของเหมืองโปแตชแห่งอื่นที่ได้ประทานบัตรแล้วต้องดำเนินการตรวจสอบการเข้ามาซื้อหุ้นของรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีนอีกแห่งหนึ่งที่กำลังเข้าไปซื้อหุ้นเพื่อครอบครองกิจการที่เหมืองโปแตช จ.อุดรธานี และเอาผิดต่อผู้ก่อมลพิษและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ก่อให้เกิดผลกระทบ และเร่งฟื้นฟูดิน น้ำและแหล่งน้ำสาธารณะในพื้นที่การทำเหมืองโปแตช อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ อย่างจริงจัง ในส่วนของโครงการเหมืองแร่โปแตช อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ให้ดำเนินการตรวจสอบเอาผิดพฤติกรรมการถือหุ้นอำพรางของรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีนอีกแห่งหนึ่ง (ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเดียวกันที่กำลังเข้าไปซื้อหุ้นเพื่อครอบครองกิจการที่เหมืองโปแตช จ.อุดรธานี) ที่กำลังลักลอบเข้ามาขุดเจาะสำรวจแร่โปแตชในพื้นที่ถือครองของประชาชนโดยไม่ได้รับอนุญาต
สุดท้ายนี้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่รัฐต้องรับผิดชอบ และรัฐไทยต้องกล้ายอมรับว่า “ผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ที่สุดคือรัฐที่ผสมพันธุ์กับทุน” ถึงเวลาแล้วที่รัฐต้องหยุดอ้างการพัฒนาที่ต้องมี “ผู้เสียสละ” ถึงเวลาแล้วที่รัฐต้องหยุดหนุนหลังและเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนผูกขาดและทุนข้ามชาติเข้ามากอบโกยทรัพยากรธรรมชาติในบ้านของเรา ถึงเวลาแล้วที่รัฐต้องหยุดอุตสาหกรรมขุดเจาะ หยุดเหมืองโปแตชอีสาน หยุดหายนะโลก

ขณะที่ขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทยหลากหลายเครือข่าย อาทิ มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ เครือข่ายแรงงาน TryArm เครือข่ายสลัมสี่ภาค สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกโดยได้สนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อต้านเหมืองโปแตชและสนับสนุนแคมเปญหยุดเติมน้ำมันจากบริษัททุนพลังงานที่มีหุ้นเหมืองโปแตซ ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดด้วย.