ในยุคสื่อสังคมออนไลน์ โซเชียลมีเดียกำลังเป็นที่นิยม และใช้ช่องทางดิจิทัลมีเดียสร้างรายได้ หลายคนกำลังสงสัยว่าอาชีพอย่าง Youtuber (ยูทูบเบอร์) และ Influencer (อินฟลูเอนเซอร์) รวมไปถึงคอนเทนต์ครีเอเตอร์ รายได้มาจากไหนบ้าง และต้องยื่นแบบเสียภาษีหรือไม่ เสียภาษีอย่างไร

ยูทูบเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ รายได้ส่วนใหญ่มาจากที่ไหนบ้าง?

  1. ส่วนแบ่งค่าโฆษณาจากการนำโฆษณามาวางในช่องโซเชียลมีเดีย, รายได้จากจำนวนคนเข้าชมคลิป, รายได้จากการสมัครสมาชิก
  2. รับจ้างรีวิวสินค้าหรือบริการ
  3. รับจ้างโชว์ตัวตามงานอีเวนต์ต่างๆ
  4. รายได้จากการขายสินค้า หรือบริการ หรือสิ่งของที่ซื้อมาขายไป

เมื่อมีรายได้ ต้องมีหน้าที่เสียภาษี ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ใช้เวลาว่างในการเป็นยูทูบเบอร์ หรืออินฟลูเอนเซอร์ หรือทำเป็นอาชีพหลัก ต้องนำรายได้ทั้งหมดมารวมคำนวณภาษี

รายได้จากส่วนแบ่งค่าโฆษณา

ไม่ว่าจะเป็น จำนวนคนเข้าชมคลิป หรือ ระบบเมมเบอร์ภายในช่องของตัวเอง ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 หรือมาตรา 40(8)

รายได้จากการรับจ้างรีวิวสินค้าหรือบริการ แบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ

  • อินฟลูเอนเซอร์ที่ทำทุกอย่างคนเดียว ไม่มีออฟฟิศ ไม่มีลูกจ้างหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 หรือ มาตรา 40(2) สามารถยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้ประจำปี โดยคำนวณหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ไม่เกิน 100,000 บาท
  • อินฟลูเอนเซอร์ที่มีรายได้และมีรายจ่ายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ลูกจ้าง, ค่าจ้างตากล้อง, ช่างแต่งหน้า ทำผม ค่าสถานที่ในกรณีที่ต้องถ่ายรีวิวสินค้า ฯลฯ ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 หรือ มาตรา 40(8) สามารถยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้ประจำปี โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามที่จ่ายจริง และจะต้องใช้หลักฐานค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อแสดงตอนยื่นภาษีให้ครบด้วย

รายได้จากรับจ้างโชว์ตัวตามงานอีเว้นท์ต่างๆ แบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ

  • อินฟลูเอนเซอร์ที่ทำทุกอย่างคนเดียว ไม่มีสำนักงาน ไม่มีลูกจ้างหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 หรือ มาตรา 40(2) สามารถยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้ประจำปี โดยคำนวณหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ไม่เกิน 100,000 บาท
  • อินฟลูเอนเซอร์ที่มีรายได้และมีรายจ่ายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ลูกจ้าง, ค่าจ้างตากล้อง, ช่างแต่งหน้า ทำผม ค่าสถานที่ในกรณีที่ต้องถ่ายรีวิวสินค้า ฯลฯ ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 หรือ มาตรา 40(8) สามารถยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้ประจำปี โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามที่จ่ายจริง และจะต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อแสดงตอนยื่นภาษีให้ครบด้วย

ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้กำหนดขอบเขตของการโชว์ตัวที่เข้าข่ายเป็น เงินได้ประเภท 8 ไว้ว่า ต้องอยู่ในลักษณะของ การแสดงของนักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุหรือโทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงอื่นๆ จะสามารถหักค่าใช้จ่ายในอัตราเหมาๆ ได้ดังนี้

  • (ก) เงินได้ส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท 60%
  • (ข) เงินได้ส่วนที่เกิน 300,000 บาท 40%

โดยการหักค่าใช้จ่ายตาม (ก) และ (ข) รวมกันต้องไม่เกิน 600,000 บาท

รายได้จากการขายสินค้า / บริการของตนเอง หรือสิ่งของซื้อมาขายไปต่างๆ

ในกรณีที่คุณเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่มีรายได้จากการขายสินค้า (ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการแบรนด์ตัวเอง หรือสิ่งของที่ซื้อมาขายไป) กรมสรรพากรถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 หรือ มาตรา 40(8) สามารถยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้ประจำปี โดยคำนวณหักค่าใช้จ่ายในอัตราเหมา 60% และต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่ายต่างๆ แสดงตอนยื่นภาษีให้ครบด้วย

เป็นอินฟลูเอนเซอร์ มีรายได้หลายทาง คำนวณภาษีอย่างไรดี?

แน่นอนว่าการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ย่อมมีรายได้เข้ามามากกว่า 1 ช่องทาง ส่งผลให้การคำนวณภาษีของเหล่าอินฟลูฯ มีความซับซ้อนกว่าพนักงานประจำที่มีรายได้ช่องทางเดียว ซึ่งกรมสรรพากรได้กำหนดการ คำนวณภาษีของนักรีวิว อินฟลูเอนเซอร์ ไว้ 2 วิธี คือ

1.คำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิ

เงินได้ (รายได้ที่ได้รับตลอดทั้งปีภาษี (1 มกราคม-31 ธันวาคม)) – ค่าใช้จ่ายส่วนตัว (100,000 บาท) – ค่าลดหย่อนส่วนตัว (60,000 บาท) = เงินได้สุทธิ (ยกเว้นเงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรก) x อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (5-35%) = ภาษีที่ต้องจ่าย

2.คำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมิน

จำนวนภาษี = เงินได้พึงประเมิน (รายได้ทุกช่องทาง) x 0.5%

รู้ได้อย่างไรว่า ต้องคำนวณภาษีแบบไหน?

ยูทูบเบอร์ หรือ อินฟลูเอนเซอร์ ที่ยังสับสนอยู่ว่า ควรเลือกคำนวณภาษีแบบใดถึงจะรู้ว่าจ่ายภาษีถูกต้องนั้น คู่มือของกรมสรรพากรระบุไว้ว่า ให้ทำการเปรียบเทียบจำนวนภาษีตามวิธีที่ 1 และ 2 (ที่กล่าวมาข้างต้น) และเสียภาษีตามวิธีที่คำนวณได้มากกว่า

  • ถ้าเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 100,000 บาท ไม่ต้องคำนวณภาษี
  • ถ้าคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 แล้วมีภาษีไม่เกิน 5,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษีวิธีที่ 2 (แต่ยังต้องเสียภาษีตามวิธีที่ 1)