เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 68 ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี รองหัวหน้าทีมเศรษฐกิจและกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้งบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ว่า ขณะนี้แม้ว่าสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย แต่ยังไว้วางใจไม่ได้ เพราะก่อนหน้านี้ กัมพูชาพยายามรุกคืบเข้ามาในพื้นที่ของประเทศไทยตลอดเวลา ดังนั้น ถึงแม้กัมพูชาแจ้งว่ามีการปรับกำลังพลแล้ว แต่ก็ยังคงต้องเฝ้าจับตา ซึ่งต้องยอมรับว่ายุทธศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศของเราอ่อนมาก เมื่อเทียบกับรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งวิเคราะห์ได้ว่าไทยกลายเป็นเหยื่อให้ผู้นำกัมพูชาสร้างความนิยมทางการเมือง โดยปั่นกระแสความรักชาติสร้างภาพให้ไทยเป็นผู้รุกราน และเขาเป็นผู้ปกป้อง เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

“ปัจจัยที่ทำให้กัมพูชารุกแบบได้คืบเอาศอก ก็มาจากไทยมีรัฐบาลโดยเฉพาะตัวผู้นำที่อ่อนแอในเกมการเมืองระหว่างประเทศ เมื่อไทยยิ่งไม่ตอบโต้ในประเด็นที่ฝ่ายกัมพูชาใส่ความ ทำให้เราดูเป็นตัวร้ายในสายตาชาวโลก ดังนั้น การที่กัมพูชาจะนำความขัดแย้งที่ตนสร้างขึ้นไปสู่ศาลโลก จึงดูสาเหตุผลในสายตาของนานาชาติ“ ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว

ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวต่อว่า เมื่อเปรียบเทียบแสนยานุภาพทางทหารแล้ว กองทัพไทยของเราเป็นเหมือนราชสีห์ ส่วนกองทัพกัมพูชาเปรียบเสมือนลูกแกะ แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ กองทัพของเขานำโดยราชสีห์ จึงมีการวางแผนมาอย่างแยบยล ขณะที่กองทัพราชสีห์ที่นำโดยลูกแกะนั้น กลับบั่นทอนความเป็นเอกภาพในการดำเนินการเป็นอย่างมาก ทหารไทยจะทำอะไรก็ติดขัดไปหมด เพราะฝ่ายการเมืองคือสาเหตุที่ทำให้ความน่าเกรงขามของไทยลดน้อยถอยลง ซึ่งก็น่าเห็นใจฝ่ายทหารที่ต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มีท่าทีอ่อนปวกเปียกกับประเทศเพื่อนบ้านที่แข็งกร้าวกับเราตลอดเวลา

ม.ล.กรกสิวัฒน์ ยังกล่าวถึงการเจรจา JBC ในวันที่ 14 มิ.ย. นี้ ว่า ตนขอแนะนำว่า ถ้าเราไม่อยากรบ เราต้องแสดงออกว่า เราเข้มงวด และเอาจริงเอาจังกับการรักษาเขตแดนของเรา และถ้าหากการเจรจาไม่เป็นผล เราต้องมีมาตรการโต้กลับทันที อย่างน้อย 2 มาตรการ ได้แก่ 1.ตัดการขายน้ำมันเชื้อเพลิงให้กัมพูชา เพราะทุกวันนี้ กัมพูชานำเข้าน้ำมันจากไทยถึงร้อยละ 55 ของที่เขาใช้อยู่ ถ้าเราใช้นโยบายนี้ จะเป็นการทอนกำลังทางทหารและทางเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ทำให้กัมพูชาเคลื่อนอาวุธยุทโธปกรณ์ได้ยากยิ่งขึ้น 2.ต้องตัดไฟฟ้า และการสื่อสาร สัญญาณอินเทอร์เน็ต หากทำทั้งสองอย่างนี้ เชื่อว่าจะทำให้กัมพูชา อ่อนกำลังโดยเร็ว เชื่อว่าทั้ง 2 มาตรการจะทำให้กัมพูชายับยั้งชั่งใจในการที่จะก่อสงคราม เพราะน้ำมันเป็นยุทธปัจจัยที่สำคัญ และหากเกิดการปะทะขึ้นอีก ไทยสามารถยกระดับการกดดันด้วยการปิดช่องทางลำเรียงยุทธปัจจัยทั้งหมด ซึ่งจะลดความเข้มแข็งของกัมพูชา และจำกัดการขัดแย้งไม่ให้ขยายวงออกไป และจะทำให้กัมพูชาเข้าสู่โต๊ะเจรจาแบบมีเหตุมีผล.