เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ศาลปกครองสุพรรณบุรี ได้มีกลุ่มชาวบ้านบางส่วนจาก อ.สองพี่น้อง และอ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ดร.อุดม โปร่งฟ้า ที่ปรึกษา รมว.ทส. ในฐานะหัวหน้าทีมทนายความ พร้อมทีมทนายความ เดินทางมายื่นฟ้องกรมชลประทาน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเรียกค่าเสียหายจากการที่กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำโดยผิดพลาด ทำให้เกิดน้ำท่วมสูงและน้ำท่วมขังในจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นระยะเวลากว่า 2 เดือน ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนทั้งที่พักอาศัยและที่ทำกิน โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม 100% และส่วนใหญ่ต้องสิ้นเนื้อประดาตัว มีภาระหนี้สินจำนวนมาก โดยได้มีชาวบ้านอีกมากกว่า 2 พันครอบครัวได้แสดงเจตนาที่จะยื่นฟ้องกรมชลประทานกับพวกต่อทนายความแล้ว แต่ในวันนี้ ได้มีการยื่นฟ้องแล้วเป็นจำนวน 210 คน คิดเป็นค่าเสียหายรวมประมาณ 140 ล้านบาทเศษ

ดร.อุดม กล่าวว่า สาเหตุที่ชาวบ้านต้องยื่นฟ้องกรมชลประทานกับพวกต่อศาลปกครองสุพรรณบุรี ก็เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในปี 2564 ที่กรมชลประทานได้ระบายน้ำเข้าสู่พื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีโดยไม่ยอมระบายน้ำออกจากพื้นที่ เพราะเกรงว่าอาจเกิดปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดปริมณฑลและกรุงเทพมหานคร แต่ปล่อยให้ชาวสุพรรณบุรีต้องได้รับความเดือดร้อนเสียหายเพียงจังหวัดเดียว ที่สำคัญ รัฐบาลให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอยู่เสมอว่าเป็นห่วงชาวสุพรรณบุรีที่เดือดร้อนจากน้ำท่วม แต่กลับไม่มีมาตรการใดๆ ที่จะช่วยเหลือชาวบ้าน โดยเฉพาะเมื่อชาวบ้านทราบว่า รัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยหรือเยียวยาให้แก่ชาวบ้านในจังหวัดสุพรรณบุรีเพียงครอบครัวละ 50,000 บาทเศษ ทั้งที่ชาวบ้านได้รับความเสียหายจริงมากกว่าเงินที่รัฐบาลจะจ่ายชดเชย ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถยอมรับได้ จึงได้รวมตัวกันยื่นฟ้องกรมชลประทานในครั้งนี้

สำหรับในการฟ้องคดีครั้งนี้ของชาวจังหวัดสุพรรณบุรี นอกจากจะเรียกค่าเสียหายตามที่ชาวบ้านได้รับความเสียหายจริงจากกรมชลประทานแล้ว ชาวสุพรรณบุรียังต้องการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมชลประทานกำหนดนโยบายบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการระบายน้ำอย่างเป็นธรรม โดยการกระจายมวลน้ำที่มีจำนวนมหาศาลให้ลงสู่พื้นที่แก้มลิงต่างๆ อย่างเหมาะสม มิใช่ระบายน้ำลงสู่พื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีเพียงแห่งเดียว และชาวบ้านยังขอพึ่งบารมีศาลปกครองสุพรรณบุรี ให้ห้ามกรมชลประทานระบายน้ำเข้าสู่พื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีในปริมาณน้ำที่เกินกว่าพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีจะรองรับน้ำได้ ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับปัญหาน้ำท่วมในปี 2564 นี้อีกด้วย

สำหรับ คำขอของผู้ฟ้องคดี (ระบุวัตถุประสงค์หรือความต้องการของผู้ฟ้องคดี) 1. ขอศาลได้โปรดมีคำพิพากษาห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ระบายน้ำเข้าสู่พื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ในปริมาณน้ำที่เกินกว่าความสามารถในการรับน้ำของพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีจะรองรับได้ และบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันกำหนดนโยบายการบริหารจัดการน้ำในสภาวะที่มีมวลน้ำจำนวนมากเกินกว่าที่ปริมาณน้ำในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีจะรองรับน้ำได้ โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินการระบายน้ำไปสู่พื้นที่รองรับน้ำต่างๆ อย่างสมดุลและอย่างเป็นธรรม และบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกำหนดค่าชดเชยหรือเยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและความเสียหายในจำนวนความเสียหายที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง และให้ดำเนินการโดยเร็ว โดยขอให้ศาลบังคับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองออกกฎ ระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา 2. ขอศาลได้โปรดมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นเงิน 600,000 บาท จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 เป็นเงิน 4,500,000 บาท จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 3 เป็นเงิน 1,2000,000 บาท ฯลฯ