นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพธุรกิจ ขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ของไทย จัดทำโดยสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่สำรวจเอสเอ็มอีทั่วประเทศ 625 ราย ในภาคอุตสาหกรรม การค้า และบริการ วันที่ 12-17 พ.ย.64 ว่า ธุรกิจเอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก

โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด หรือประมาณ 50-70% ของผู้ตอบแบบสอบถาม อยู่ในภาคการค้า (ค้าส่งค้าปลีก) และบริการ (ภัตตาคาร ร้านอาหาร ท่องเที่ยว ขนส่ง) ส่วนภาคอุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบน้อยกว่า โดยผลสำรวจพบว่า เอสเอ็มอี ที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ หรือ 40.1% มีโอกาสปิดกิจการในเร็วๆ นี้ เพราะยอดขายลดลงเฉลี่ย 18.6% ต้นทุนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14.9% กำไรลดลงเฉลี่ย 20.6% ยอดคำสั่งซื้อลดลง 15.3% สภาพคล่องลดลง การจ้างงานลดลงเฉลี่ย 9.8%

ส่วนมาตรการผ่อนคลาย และการเปิดประเทศ แม้ทำให้การทำธุรกิจเริ่มกลับมา แต่เอสเอ็มอีจำนวนมาก กลับไม่มีความพร้อมด้านการเงิน เข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ และไม่สามารถกู้เงินมาเสริมสภาพคล่องได้ แม้รัฐมีมาตรการช่วยเหลือเงินกู้ซอฟต์โลนอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาอื่นๆ เข้ามาซ้ำอีก ทั้งต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ราคาสินค้าที่ขายยังอยู่ในระดับต่ำ และยังไม่สามารถปรับขึ้นราคาขายได้ คู่แข่งในปัจจุบันมีจำนวนมาก อีกทั้งยังมีต้นทุนการเปิดกิจการตามมาตรการควบคุมโควิดที่เพิ่มขึ้นอีก สำหรับสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐเร่งช่วยเหลือ คือ สินเชื่อโดยไม่เน้นการค้ำประกัน การลดหย่อนภาษีนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนเพื่อลดต้นทุน การกระตุ้นการท่องเที่ยว การฉีดวัคซีนและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

”เรื่องสภาพคล่องเป็นปัญหาใหญ่และรุนแรง สถานการณ์ยังมีความเปราะบางมาก หากมีการระบาดระลอกใหม่จนจำเป็นต้องล็อกดาวน์อีก จะทำให้มีความเสี่ยงที่จะปิดกิจการมากขึ้น โดยเอสเอ็มอีมากกว่าครึ่ง ต้องการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องอย่างมาก หรือวงเงินสินเชื่อที่ต้องการเฉลี่ยอยู่ที่ 654,924 บาท และคาดว่า ธุรกิจจะกลับมาเป็นปกติภายในไตรมาสที่ 4/65”

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้รัฐบาลผ่อนคลายให้ธุรกิจกลางคืนสามารถเปิดกิจการได้ เนื่องจากธุรกิจนี้มีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ถึง 20% คิดเป็นเม็ดเงิน 2-3 ล้านล้านบาทต่อปี แต่ยังคงต้องเปิดภายใต้มาตรการทางด้านสาธารณสุขที่ให้ทุกคนปฏิบัติร่วมกัน เพื่อสามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาครัฐควรดูแลปัญหาสภาพคล่องของเอสเอ็มอีอย่างเร่งด่วน คาดว่าจะใช้เม็ดเงิน 200,000-300,000 ล้านบาท แม้รัฐบาลจัดเตรียมงบประมาณในส่วนนี้ไว้แล้ว แต่เอสเอ็มอียังไม่ถึง หากเกิดการระบาดอย่างมากอีก จนเอสเอ็มอีต้องปิดกิจการราว 5% จะทำให้รายได้ของประเทศหายไปประมาณ 300,000 ล้านบาท และมีคนตกงานเพิ่มอีก 1-2 ล้านคน

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ เชื่อว่า ภาครัฐจะสามารถควบคุมได้ แต่เสนอแนะให้กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงข้อมูลบางอย่างให้ประชาชนรู้ เพื่อสร้างความมั่นใจ เช่น ผู้ติดเชื้อในขณะนี้มีอาการรุนแรงหรือไม่ มีมาตรการป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์ ที่กำลังระบาดอยู่ในต่างประเทศหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากมีการผ่อนคลายมาตรการ และเปิดประเทศมากขึ้น จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับมาตรการป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดที่มีประสิทธิภาพด้วย